ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวตรวจสอบ

ประจวบฯ – จี้ปกครองจังหวัดตั้ง กก. เร่งกำจัดสารเคมีวัตถุอันตรายสาร บีที ปลอม 57.5 ล้านซุกหอประชุมอำเภอ

จี้ปกครองจังหวัดตั้ง กก. เร่งกำจัดสารเคมีวัตถุอันตรายสาร บีที ปลอม 57.5 ล้านซุกหอประชุมอำเภอ

วันที่ 14 มีนาคม นายธนนท์ พรรพีภาส นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง เก็บสาร บีที ใช้กำจัดแมลงดำหนามในสวนมะพร้าว มูลค่า 32.8 ล้านบาท ด้านหลังที่ทำการอำเภอจนหมดอายุการใช้งาน จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อปีงบประมาณ 2555 มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินให้อำเภอจัดซื้อสาร บีที แต่กรมวิชาการเกษตรมีหนังสือเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 แจ้งว่าบริษัทคู่สัญญาในการจัดซื้อกับหน่วยงานในจังหวัดได้นำสินค้าที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ไม่ได้แจ้งเพื่อดำเนินการผลิต จึงไม่สามารถนำมาจำหน่ายกับทางราชการได้ สาร บีทีที่ผู้จำหน่ายจะส่งมอบจึงถูกทิ้งไว้ในหอประชุมนานเกือบ 10 ปี

นายธนนท์ กล่าวว่า สาร บีที ล๊อตดังกล่าวอำเภอยังไม่เบิกจ่ายงบจัดซื้อ บริษัทคู่สัญญาจึงร้องต่อศาลปกครอง กระทั่งศาลสั่งให้ทางราชการชนะคดี แต่สินค้าทั้งหมดไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไปจากหอประชุมทราบว่าก่อนหน้านี้ เมื่อ 2 ปีก่อน ปกครองจังหวัดได้ตั้งกรรมการหลายฝ่ายเพื่อหาวิธีการบำบัด โดยมีมติให้ไปแจ้งความในคดีอาญาที่ สภ.เมืองประจวบฯ ขณะนี้ทราบว่าคดียุติแล้ว อำเภอจะเสนอให้ปกครองจังหวัดตั้งกรรมการชุดใหม่ เพื่อนำสาร บีที ไปบำบัดตามหลักวิชาการ เนื่องจากมีสารเคมีประเภทเดียวกันเก็บไว้ที่วัดใน อ.ทับสะแก

จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์กล่าวว่า มีการเก็บสารเคมีชนิดเดียวกันซึ่งเป็นวัตถุอันตรายมูลค่า 24 .7 ล้านบาท กองไว้ในเมรุร้าง ที่วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก ขณะที่การจัดซื้อทั้ง 2 อำเภอมี 2 บริษัทใช้ชื่อต่างกัน แต่มีฉลากสินค้าชนิดเดียวกัน มีที่ตั้งในสถานที่เดียวกัน ที่ผ่านมาเมื่อเดือนเมษายน 2560 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจสอบ จากนั้นแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาวิธีการกำจัดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว ไม่ควรมีขยะพิษเก็บไว้ใจกลางเมือง แต่ปัจจุบันยังไม่คืบหน้า

“ มีการตรวจสอบย้อนหลังในปีงบประมาณ 2553 -2554 พบว่ามีใช้เงินทดรองราชการจากการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ.) จัดซื้อซื้อสารบีที 193.5 ล้านบาท แจกจ่ายให้เกษตรกร แต่ไม่มีหน่วยราชการให้การรับรองสินค้า ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงควรชี้แจงว่าเหตุใดจึงทักท้วงการจัดซื้อในเดือนสิงหมาคม 2555 จะสอบถามสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 12 จ.เพชรบุรีว่า การสอบข้อเท็จจริงมีข้อสรุปว่ามีการทุจริตหรือไม่

พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339644 4