ข่าว / ชาวสวนเกาะช้างมัดโยง-ค้ำกิ่งทุเรียนลูกใหญ่ หวั่นพายุพัดทุเรียน(GI)ใกล้จะตัดได้เสียหาย
วันที่ 23 มี.ค.65 นายสมหวัง ภรินทนันท์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ (ทุเรียนเกาะช้าง) อ.เกาะช้าง จ.ตราด เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุเรียนชะนีเกาะช้าง-หมอนทอง-กระดุม ของเกษตรกรชาวสวนเกาะช้างกำลังมีลูกขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่บนต้น
โดยทุเรียนแต่ละสวนจะเริ่มแก่จัด และทยอยตัดขายได้ ราวกลางเดือน เม.ย-พ.ค.65 หรืออีกไม่กี่วันข้างหน้า ในขณะเดียวกันทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้มีการประกาศเตือนให้ระมัดระวังพายุฤดูร้อน จะเกิดติดต่อกันอีกหลายวัน ก็ได้สร้างความวิตกกังวลต่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไปตามๆกัน เนื่องจากปัจจุบันทุเรียนภายในสวนกำลังจะแก่จัดและตัดขายได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เกษตรกรชาวสวนก็ต้องมีการนำเชือกฟางทำการมัดโยงกิ่งทุเรียนให้ถี่ขึ้น พร้อมนำไม้ไผ่มาค้ำกิ่งทุเรียนที่มีกิ่งขนาดเล็ก และมีลูกขนาดใหญ่ห้อยอยู่หลายลูก เพื่อไม่ให้กิ่งทุเรียนฉีกหักเมื่อเกิดมีลมพายุพัดแรง ป้องกันลูกทุเรียนร่วงหล่นเสียหาย
ซึ่งเกษตรกรชาวสวนทุเรียนพื้นที่เกาะช้างก็คาดหวังกันว่า การนำเชือกฟางมามัดโยงกิ่งทุเรียน และใช้ไม้ไผ่ค้ำกิ่งทุเรียนที่มีลูกขนาดใหญ่ดังกล่าว จะสามารถช่วยได้มากถ้าหากเกิดพายุฤดูร้อน และมีลมพัดกรรโชกแรง กิ่งทุเรียนก็จะไม่หักหรือฉีกโดยง่าย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเกาะช้าง เคยได้รับผลกระทบจากลมพายุฤดูร้อน ที่พัดกรรโชกแรงทำได้กิ่งทุเรียนที่มีลูกขนาดใหญ่ห้อยอยู่หลายลูกฉีกหัก ผลทุเรียนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ในขณะที่ นายชยุทกฤดิ เกษตรจังหวัดตราด พร้อม นายพุฒิพงษ์ โพธิ์พานิช เกษตรอำเภอเกาะช้าง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะช้าง ก็ให้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทุเรียนเริ่มออกดอก ทั้งเรื่องการป้องกันแมลงศัตรูพืชที่ระบาดในต้นทุเรียน การดูแลบำรุงต้น และการดูแลผลผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพก่อนจะมีการเก็บเกี่ยวตัดขายออกสู่ท้องตลาด
ทั้งนี้ จุดเด่นของทุเรียนชะนีเกาะช้างก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาทาง อพท.-ธ.ก.ส-.เกษตรภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการส่งทุเรียนชะนีเกาะช้างไปทำการตรวจวิเคราะห์สารอาหารที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าเนื้อของทุเรียนชะนีเกาะช้างนั้น มีวิตามินอี และไอโอดีนสูง โดยจะมีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการ มีรสชาติอร่อย มีเนื้อสีเหลืองอ่อน ละเอียดเนียน ทุเรียนที่สุกกลิ่นจะไม่แรงมาก ที่เนื้อของทุเรียนชะนีเกาะช้างมีคุณสมบัติพิเศษ เนื่องจากสภาพของพื้นดินที่ปลูก จะมีส่วนประกอบของดินภูเขาไฟ และปลูกอยู่กลางทะเล มีน้ำทะเลล้อมรอบ และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” ทะเบียนเลขที่ สช 63100148 สำหรับความหมายของจีไอ (GI) ก็คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มีแหล่งผลิตเฉพาะถิ่น
ภาพ/ข่าว วรโชติ เกาะช้าง-วิเชียร ม่วงสี ทีมข่าวภูมิภาค /รายงาน