ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวแถลงข่าว

ร้อยเอ็ด-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ติดตามเชิงประจักษ์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ติดตามเชิงประจักษ์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ ลงพื้นที่นิเทศติดตามเชิงประจักษ์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการของโรงเรียนในเครือข่ายฯทั้ง 11 โรงเรียน เพื่อให้เห็นภาพจริงของการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ณ หอประชุมโรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน ให้การต้อนรับ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมด้วยการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แนวใหม่ ซึ่งกำหนดลงพื้นที่โรงเรียนในเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบในจังหวัดร้อยเอ็ด และเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ นำไปสู่การเตรียมความพร้อม และวางแผนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ต่อไป

ทางด้าน นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้ขับเคลื่อนและส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ถือว่าเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่ง ในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้รู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือ ส่งเสริมสนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งทางด้านหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีโดยการปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน มีโอกาสใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการทดลองและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย มีสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาของสังคมโลกที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนั้น นอกจากทักษะทางด้านการสื่อสารที่สำคัญแล้ว ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นการสร้างรากฐาน พื้นฐานของเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย ให้มีความรู้พื้นฐาน จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง