ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวตรวจเยี่ยม

กาญจนบุรี – ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่กาญจนบุรี เร่งแผนแก้ไขน้ำกัดเซาะตลิ่งทำที่ดินประชาชนเสียหาย

กาญจนบุรี ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่กาญจนบุรี เร่งแผนแก้ไขน้ำกัดเซาะตลิ่งทำที่ดินประชาชนเสียหาย

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยหม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสิริน ชาวเพ็ชรดี ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี หลังถูกน้ำจากลำตะเพินไหลกัดเซาะจนสภาพที่ดินริมตลิ่งทรุดพังทลายเสียหายเป็นบริเวณกว้าง พร้อมเร่งประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางเยียวยาป้องกันในอนาคต

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในวันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่พร้อมกับประชุมหารือร่วมกับนายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายพงศกร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธาจากกรมชลประทาน ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 2 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขากาญจนบุรี สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13 กองพลทหารราบที่ 9 มณฑลทหารบกที่ 17 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี อบต.ช่องด่าน และผู้ร้องเรียน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่น้ำจากลำตะเพินไหลกัดเซาะจนสภาพที่ดินริมตลิ่งทรุดพังทลายเสียหาย โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ ภ.บ.ท.5 ที่ประชาชนใช้ประโยชน์อาศัยทำกินและเพาะปลูก อยู่ในการดูแลของกองพลทหารราบที่ 9 และมณฑลทหารบกที่ 17 ซึ่งที่ดินริมตลิ่งเป็นดินตะกอนทรายตั้งอยู่ในช่วงทางโค้งคดเคี้ยวของลำน้ำ กระแสน้ำเขื่อนลำตะเพินจึงแรงจนเซาะริมตลิ่ง พืชผลการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างริมน้ำเสียหาย โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องวางแผนการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตามธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการอาคารป้องกันตลิ่งบ้านช่องด่านมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เพื่อสร้างแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง โดยโครงการอาคารป้องกันตลิ่งบ้านช่องด่าน 1 ดำเนินการแล้วเสร็จมีระยะทางยาวประมาณ 600 เมตร อย่างไรก็ตาม การสร้างแนวเขื่อนยังมีระยะไม่เพียงพอสำหรับที่ดินทำกินริมน้ำที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จำเป็นต้องหาวิธีการหรือจัดสรรงบประมาณที่จะนำมาดำเนินโครงการต่อไป

นายทรงศัก กล่าวต่อว่า จากการประชุมหารือวันนี้พบว่า กรมชลประทานได้สำรวจออกแบบและจัดเข้าแผนงานก่อสร้างในโครงการอาคารป้องกันตลิ่งบ้านช่องด่าน 2 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายแล้ว โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในการเสนองบประมาณเพิ่มเติมจากปีงบประมาณ 2565 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้น ที่ประชุมได้หารือหางบประมาณเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่มีงบเหลือจ่าย หรือจากองค์กรเอกชน มูลนิธิอื่น ๆ รวมทั้งการช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือวัสดุ – อุปกรณ์ เพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งชั่วคราว เช่น ตอกไม้ หิน หรือวัสดุที่ป้องกันน้ำกัดเซาะ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะยาว คือ

1. ให้กรมชลประทานสำรวจและวางแผนนโยบายบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งผลักดันงบประมาณสำหรับช่วยเหลือตามระเบียบราชการต่อไป

2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พิจารณาระบบการเยียวยาเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ว่าจะมีการเยียวยาได้อย่างไร ตามระเบียบอะไร มีช่องทางช่วยเหลืออื่น ๆ ได้หรือไม่

3. อบจ. และอบต. จำเป็นต้องให้ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในกรณีฉุกเฉินว่ามีวิธีดำเนินการอย่างไร เพื่อป้องกันอุทกภัยหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร

เกษร สิงห์คำ กาญจนบุรี