ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวช่วยชาวบ้าน

ปทุมธานี ทม.บึงยี่โถร่วมกับม.ธรรมศาสตร์และประเทศญี่ปุ่นบูรณาการดูแลผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2565

ปทุมธานี ทม.บึงยี่โถร่วมกับม.ธรรมศาสตร์และประเทศญี่ปุ่นบูรณาการดูแลผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ร้านกาแฟนาดิน คลองสี่ ตำบลบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ จัดโครงการ “การสร้างเครือข่ายและสัมพันธภาพของครอบครัวและผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมผ่านกิจกรรม Dementia Café” โดยมีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ของศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ เข้าร่วม โดยมี นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ , ศ.ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

, MR.TOSHIYUKI OKUI (โตชิยูกิ โอกุอิ) ตัวแทนและที่ปรึกษาอาวุโสของ NOGEZAKA-GLOCAL ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่โครงการ Storong Cafe เจ้าหน้าที่ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
สำหรับศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาผู้สูงอายุที่มี “ภาวะสมองเสื่อม” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับพื้นที่เทศบาลเมืองบึงยี่โถ มีรูปแบบการให้บริการที่เรียกว่า “ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ” ลักษณะเป็นการให้บริการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน (ADL 5 – 11) แบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งพบว่าในส่วนของการให้บริการมีผู้สูงอายุที่เริ่มมีภาวะสมองเสื่อม หรือมีภาวะสมองเสื่อมแล้ว ถึง 10 ราย จากผู้ใช้บริการทั้งหมด 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ซึ่งจะเห็นว่ามีแนวโน้มของปัญหาของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่มารับบริการอย่างชัดเจน นับเป็นปัญหาทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ ซึ่งควรได้รับการสนใจและตระหนักว่าเป็นปัญหาที่ควรมีแนวทางในการแก้ไข และวิธีการช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุ และครอบครัวเพื่อส่งเสริมให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม พบว่ามีกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อมผ่านระบบสนับสนุนครอบครัว รูปแบบหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่นชื่อ Dementia Café โดยเป็นลักษณะการเข้าร้านกาแฟ และจัดกิจกรรมผ่านการให้คำปรึกษา พูดคุยซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ความรู้สึก โดยใช้พื้นที่ร้านกาแฟหรือสถานที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรม ซึ่งนับเป็นรูปแบบการให้บริการสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัวที่มีภาวะสมองเสื่อมที่เป็น Model ที่ดีอีกกิจกรรมหนึ่ง ดังนั้นเทศบาลเมืองบึงยี่โถ ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้นำแนวคิดของ Dementia Café มาจัดเป็นรูปแบบเฉพาะในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในพื้นที่ชื่อ “Strong Cafe” ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงดึงผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมออกมาเข้าร่วมทางสังคม ในส่วนของผู้ดูแลก็ยังสามารถได้รับรู้ปัญหา ความต้องการ ได้ร่วมกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด และมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมการสนับสนุนกันทางสังคมอีกด้วย

นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า เราได้ร่วมกับองค์กรอิสระที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุโดยตรงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งองค์กรของเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยจะมาแลกเปลี่ยนความรู้ที่เทศบาลเมืองบึงยี่โถเป็นหลัก ในส่วนของ NOGEZAKA-GLOCAL ซึ่งองค์กรดังกล่าวเป็นองค์กร จากเมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่ในการพัฒนาชุมชน โดยการบูรณาการในสังคม ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นเพื่อที่จะนำมาปรับในกับประเทศไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้จากประเทศไทยกลับไปใช้ในประเทศญี่ปุ่น เช่น การดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นต้องใช้เงินมหาศาล เขาจึงสนใจประเทศไทยว่าทำไมเราใช้ต้นทุนน้อยในการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละคน จึงได้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ส่วนเราที่จะได้องค์ความรู้จากเขา เนื่องจากเขามีความชำนาญในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เราจึงนำองค์ความรู้ตรงนั้นมาเพื่อที่จะป้องกันในการเกิดเหตุในอนาคต เรามี่ต้องไปลองผิดลองถูก โดยเราได้องค์ความรู้จาก NOGEZAKA-GLOCAL เป็นความสำคัญที่จะเชื่อมโยงความรู้จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย
ด้าน MR.TOSHIYUKI OKUI (โตชิยูกิ โอกุอิ) ตัวแทนและที่ปรึกษาอาวุโสของ NOGEZAKA-GLOCAL ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ที่ประเทศไทยเริ่มที่จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ แต่ญี่ปุ่นมีปัญหาชุมชนไม่เข้มแข็ง แต่ที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมาก เราจึงได้นำองค์ความรู้ของเรามาแลกเปลี่ยนกับประเทศไทย โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่าง เทศบาลเมืองบึงยี่โถ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และเสริมสร้างความเข็มแข็งในการทำงานการดูแลผู้สูงอายุร่วมกัน.