ผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อดัง ร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง ให้บริษัทแม่ระงับการใช้ช่องว่างข้อกฎหมายยกเลิกสัญญา และจัดระเบียบพื้นที่ขอบเขตพื้นที่การขายอย่างไม่เป็นธรรม
โดยผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อดังหลายราย เดินทางมาศาลปกครองเพื่อยื่นร้องขอความเป็นธรรมหลังบริษัทแม่จัดระเบียบพื้นที่ขอบเขตพื้นที่การขายอย่างไม่เป็นธรรมจนส่งผลกระทบได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติที่ไม่ได้รับควาเป็นธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่า บริษัทแม่ ดำเนินการทางตลาดในลักษณะที่เป็นการแบ่งพื้นที่เขตขายแบบใหม่ ตามหลักภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า Customer Shopping Area หรือ CSA ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่และกำหนดเขตการขายรถยนต์ใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยอ้างว่าจากการศึกษาพฤติกรรมการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ ได้คัดเลือกผู้จำหน่ายรายที่เห็นว่ามีศักยภาพที่จะดูแลพื้นที่ในเขตการขายที่กำหนดใหม่ เพื่อให้เข้าร่วมประชุมแบบรายบุคคลและแจ้งให้ผู้จำหน่ายที่ได้รับการคัดเลือกแต่ละรายทราบถึงแผนการทำธุรกิจในช่วงห้าปีข้างหน้า รายละเอียดรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะวางแผนจำหน่าย การแสดงยอดขายแต่ละพื้นที่ และหลักการที่เกี่ยวข้องให้ผู้จำหน่ายที่ได้รับการคัดเลือกทราบ หากผู้ใดสนใจร่วมลงทุนในแผน CSA ก็จะได้รับการนัดหมายให้มาลงนามในบันทึกข้อตกลงเป็นการเฉพาะราย ซึ่งนอกจากผู้ร้อง จะไม่ได้รับทราบข้อมูลดำเนินการทางตลาดที่เรียกว่า CSA ดังเช่นผู้จำหน่ายที่ได้รับการคัดเลือกไว้ล่วงหน้าแล้ว บริษัทแม่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลทางการตลาดให้แก่ผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ และไม่ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายที่จะได้เข้าร่วมการประชุมแบบรายบุคคลให้ผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ ทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้ผู้จำหน่ายทุกรายมีโอกาสเข้าร่วมในการดำเนินธุรกิจอย่างเท่าเทียม ซึ่งส่อเจตนาที่ต้องการกำหนดตัวผู้จำหน่ายที่คัดเลือกไว้มาแต่ต้นเท่านั้นที่จะเป็นผู้ดูแลพื้นที่การขาย ถือโอกาสนำข้อสัญญาผู้จำหน่ายไปใช้บังคับอย่างเข้มงวดต่อผู้จำหน่ายที่มิได้คัดเลือกให้เข้าร่วมต้องปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์การประเมินผู้จำหน่ายจนทำให้ผู้จำหน่ายรายที่ไม่ได้รับการคัดเลือกมีการประเมินผลการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งไม่เคยมีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้แก่ผู้จำหน่ายที่เป็นคู่สัญญามาตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์
ซึ่งถือเป็นการดำเนินการในลักษณะเลือกปฏิบัติ อย่างไม่เป็นธรรมอันเป็นการขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีลักษณะเป็นการกีดกันการประกอบธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 57 ซึ่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา และได้ใช้อำนาจตามมาตรา 60 มีคำสั่งที่ 5/2563 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง ให้บริษัทแม่หยุดแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ โดยมีเงื่อนไขให้สัญญาผู้จำหน่ายระหว่างบริษัทแม่ กับผู้จำหน่ายยังคงมีผลอยู่ต่อไปแม้ว่าสัญญาผู้จำหน่ายจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2563 จนกว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ หรือจนกว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะเห็นว่าบริษัทชี้แจงรายละเอียดและแสดงพยานหลักฐานของตนที่สามารถรับฟังได้ด้วยเหตุผลอันชอบธรรมในทางธุรกิจ แต่ในภายหลังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม คงให้คุ้มครองสัญญาผู้จำหน่ายไว้เพียง 6 ราย
ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2563 บริษัทแม่ยื่นฟ้องคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 5/2563 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องให้หยุดแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งต่อไป จากนั้น เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่ 5/2563 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว มีผลเป็นการระงับคำสั่งคุ้มครองการเลิกสัญญาระหว่างผู้จำหน่าย 6 ราย ทำให้แจ้งยกเลิกสัญญากับผู้จำหน่ายทั้ง 6 ราย และผู้จำหน่ายรายอื่นทันที
คดีนี้ถือเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ยื่อห้อต่าง ๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการยานยนต์ และประชาชนที่ให้ความสนใจ เนื่องจากแม้กฎหมายแข่งขันทางการค้าจะได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒ แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพการใช้บังคับ จนกระทั่งมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2560 โดยให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ได้ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายการแข่งขันทางการเป็นไปเพื่อให้มีหน่วยงานกับกำดูแลการป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่เช่นนั้น ธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่มีเงินทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในประเทศหรือกลุ่มทุนข้ามชาติ อาจดำเนินธุรกิจไปในทางที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบธุรกิจรายอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า หรือใช้อำนาจการต่อรองทางธุรกิจที่เหนือกว่าจนทำให้ผู้ประกอบธรกิจรายอื่นเกิดความเสียหาย จนถึงขนาดต้องเลิกประกอบธุรกิจไปก็เป็นได้ ซึ่งจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จนสุดท้ายมีผลกระทบไปถึงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการผูกขาดทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมโดยไม่รู้ตัว
เบื้องต้นศาลปกครองได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยยึดหลักให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว กทม.