ใจป้ำ นายกเทศบาลคลองวาฬรับโอนท่าเรือ 429 ล้าน ถูกปล่อยทิ้งร้างนาน 16 ปี
วันที่ 14 กรกฎาคม นางบุญเยี่ยม วินิจ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลคลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สภาเทศบาลมีมติรับถ่ายโอนภารกิจโครงการท่าเรือร่องน้ำคลองวาฬ มูลค่า 429 ล้านของกรมเจ้าท่า เพื่อบริหารจัดการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จากนั้นมีการจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์เดือนละกว่า 3 หมื่นบาท โดยชาวประมงในพื้นที่จะมีโอกาสใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ หลังจากท่าเรือดังกล่าวสร้างเสร็จในปี 2549 ถึงปัจจุบันนาน 16 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปบริหารจัดการ
มีรายงานว่า หลังจากท่าเรือสร้างเสร็จ สิ่งปลูกสร้างถูกปล่อยทิ้งให้ชำรุดล่าสุดกรมเจ้าท่าได้จัดสรรงบประมาณ 19.8 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงท่าเรือ 270 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2565 มีการปรับปรุงอาคารสำนักงาน บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบไฟฟ้า ติดตั้งหลักผูกเรือ นอกจากนั้นที่บริเวณท่าเทียบเรือ เทศบาลตำบลคลองวาฬได้นำป้ายไปปิดประกาศเพื่อเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้ท่าเทียบเรือ
จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ จันทร คณะทำงานเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนนายกเทศมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากก่อนการรับมอบเจ้าหน้าที่เทศบาลจะต้องตรวจสอบประเมินโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดว่ามีสภาพพร้อมใช้งานเกินร้อยละ 90 หรือไม่โดยเฉพาะระบบบำบัดน้ำเสีย อาคารสำนักงาน ระบบไฟฟ้าและประปา เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุในการรับมอบโครงการ หากเจ้าหน้าที่เทศบาลพบว่าโครงสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็ควรทำบันทึกแย้งให้ผู้บริหารรับทราบ
แต่ทราบว่าโครงการนี้สภาเทศบาลเห็นชอบแล้ว ดังนั้นจึงมีข้อพิรุธที่ ป.ป.ช.จะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้การเช่าใช้คุ้มค่า ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบของทางราชการ ขณะที่ปัญหาท่าเรือร้างไม่ต่างจากโครงการร้างหน้าศาลากลางจังหวัดที่ใช้งบกว่า 62 ล้านบาท สำนักงานโยธาธิการจังหวัดพยายามเสนอโครงการให้สภาเทศบาลเมืองประจวบฯรับมอบ
จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าวอีกว่า ได้แจ้งให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบแบบแปลนก่อสร้างท่าเรือเนื่องจากมีการก่อสร้างท่าเรือสั้นกว่าแบบแปลนเดิมที่กำหนดไว้ ขณะที่ท่าเรือแห่งนี้ปกติควรยื่นออกไปในทะเลอีกราว 100 เมตร ทำให้ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 10 ล้านบาท เพื่อขุดลอกร่องน้ำที่มีตะกอนทำให้ตื้นเขิน เพื่อให้เรือประมงพาณิชย์สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้ และหลังจากเทศบาลรับมอบโครงการแล้วจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อขุดลอกร่องน้ำรายปี ซึ่งอาจจะกระทบกับสถานะทางการคลัง และความคุ้มค่าจากการรับโอนภารกิจในการบริหารจัดการท่าเรือ
“ การใช้งบประมาณ 19.8 ล้านเพื่อปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือร้าง 429 ล้านบาท เชื่อว่าไม่เพียงพอ หลังสิ้นสุดการจ้าง คณะทำงานจะตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียว่าสามารถใช้การได้จริงหรือไม่ ขณะที่ระบบำบัดน้ำเสีย อาคารสำนักงาน ถูกสร้างทิ้งนาน 16 ปี ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐใช้งานจริง แต่ล่าสุดได้รับการปรับปรุงใหม่ “ จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าว
มีรายงานว่า โครงการนี้ก่อสร้างเพื่อส่งเสริมกิจการท่าเรือ สนับสนุนส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและลดต้นทุนโลจิสติกส์ มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศุลกากร แต่ไม่พบว่ามีการใช้งานตามวัตถุประสงค์นานกว่า 16 ปี นอกจากมีการใช้เพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำของเรือประมงขนาดเล็กในธุรกิจประมง แต่ไม่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าไปบริหารและจัดเก็บรายได้ให้ทางราชการตามแผนที่กำหนดไว้
นายทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย อดีตนักวิชาการด้านธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือคลองวาฬเป็นตัวอย่างการศึกษาทางวิชาการที่น่าสนใจ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ ก็ไม่ควรสร้างให้สิ้นเปลืองงบประมาณทั้งโครงสร้างคอนกรีต กองหินขนาดใหญ่ในทะเล และการใช้งบรายปีเพื่อขุดลอกทรายที่ตื้นเขิน ดังนั้นกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กรมธนารักษ์ ผู้บริหารระดับจังหวัดควรให้ความสนใจเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบเพื่อป้องกันผลกระทบกับชายฝั่งในระยะยาว“ นายทิวากล่าว
/////////////
พิสิษฐ์ รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099-339-6444