จังหวัดน่าน เปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณี ทานสลากภัตร ปลอดเหล้า-เบียร์ นัดเปิดสนาม ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่บริเวณเชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ ริมแม่น้ำน่าน อำเภอเมืองน่าน นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงานประเพณีแข่งเรือยาวประเพณี ทานสลากภัตร วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ปลอดเหล้า-เบียร์ นัดเปิดสนามประจำปี 2565 โดยมี นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วยผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ประชาชนชาวจังหวัดน่าน และลูกเรือฝีพายจากทุกชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่านเข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ งานประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดน่าน ปลอดเหล้าเบียร์ นัดปิดสนาม ประจำปี 2565 จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 10 – 11 กันยายน 2565 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลให้กับ จังหวัดน่าน รวม 5 รางวัลให้แก่เรือแข่ง 5 ประเภท คือ ประเภทเรือใหญ่ ฝีพายตั้งแต่ 48 – 55 คน ประเภทเรือกลาง ฝีพายตั้งแต่ 35 – 40 คน ประเภท เรือเล็ก 25 – 30 คน ประเภทเรือแบบโบราณ ฝีพายตั้งแต่ 25 – 35 คน และประเภทเรือเอกลักษณ์น่าน ฝีพายตั้งแต่ 30 – 38 คน ชิงถ้วยพระราชทาน ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับในปี 2565 นี้ มีเรือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 40 ลำ แยกยกเป็น 5 ประเภท คือ ประเภทเรือใหญ่ จำนวน 4 ลำ ประเภทเรือกลาง จำนวน 9 ลำ ประเภทเรือเล็ก จำนวน 9 ลำ ประเภทเรือแบบโบราณ จำนวน 4 ลำ และประเภทเรือเอกลักษณ์น่าน จำนวน 14 ลำ โดยทำการแข่งขัน ณ สนามแข่งขันริมน้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ
การแข่งขันเรือยาวประเพณี ทานสลากภัตร วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ที่เป็นงานประเพณีแข่งเรือที่เก่าแก่ ที่สืบต่อมาแต่โบราณ โดยมีเอกลักษณ์เรือแข่งที่โดดเด่นสวยสง่างาม หัวเรือแกะสลักเป็นรูปพญานาค อ้าปากชูคอ อวดเขี้ยวโง้งงอสง่างาม ลำตัวเรือทาสีสวยสด และมีสวดลายที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวน่าน จังหวัดน่าน ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองน่าน และสมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน ร่วมจัดงานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ขึ้น เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง สร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชนให้เข้ามีส่วนร่วมในการส่งเสริมประเพณีท้องถิ่น และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน รวมถึงกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่น โดยได้รับความร่วมมือ จากชุมชน หมู่บ้าน ส่งเรือเข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 32 ลำ แยกเป็น 5 ประเภท คือ ประเภทเรือใหญ่ 4 ลำ ประเภทเรือกลาง 5 ลำ ประเภทเรือเล็ก 8 ลำ ประเภทเรือแบบโบราณ 6 ลำ และประเภทเรือเอกลักษณ์น่าน 9 ลำ
การแข่งเรือยาว ประเพณีนัดเปิดสนาม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ และอีกหลายภาคส่วน ให้การสนับสนุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานการแข่งเรือยาวประเพณีของจังหวัดน่าน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายต่อไป