พิษณุโลก คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ
สถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีแนวนโยบายและกฎหมาย ที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติอยู่นับแสนๆคน ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยคณะนิติศาสตร์ จึงให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาทางสถานะบุคคลและสิทธิ จึงได้จัดตั้ง “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” มุ่งแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติทั่วประเทศ
โดย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดให้มีงานแถลงข่าวสื่อมวลชนในประเด็น “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิติวรญา รัตนมณี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพร หาระบุตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้แถลงข่าว ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร
ด้าน ผศ.กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า
จากข้อมูลจำนวนราษฎรของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่าในประเทศไทยมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร 973,656 คน จากประชากรในทะเบียนราษฎรทั้งหมด 66,171,439 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47 ซึ่งภาวะไร้สัญชาติทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงสวัสดิการต่างๆจากรัฐ นำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น เด็กไร้สัญชาติจึงถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความคุ้มครองทางสังคม
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแก่นิสิตไร้สัญชาติในมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งสิ้นประมาณ 27 คน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ นิสิตจบการศึกษาแล้ว 17 คน
(มีสัญชาติไทย 13 คน ไร้สัญชาติ 4 คน) และกำลังศึกษาอยู่ 10 คน (ไร้สัญชาติทั้ง 10 คน) ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆกว่า 200 คน และช่วยให้บุคคลไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 322 คน ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ได้รับการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองเหลือเพียงปัญหาความไร้สัญชาติซึ่งยังต้องได้รับการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนต่อไป
นอกเหนือจากงานให้บริการทางวิชาการ ที่สำคัญ “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล วิชาวิจัยทางกฎหมาย และวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่บูรณาการการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัยเข้าด้วยกัน
ด้าน นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยถึงความลำบากและปัญหาในการไม่มีสัญชาติไทย ว่า “การขอทุนการศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทไม่สามารถทำได้ และการเดินทางมาเรียนคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยจะต้องขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งในการไปขอแต่ละครั้งมีความยุ่งยากมาก ซึ่งมีสัญญาเพียง 1 ปี เมื่อครบสัญญาก็ต้องไปต่อใหม่ และที่สำคัญมากคือเรื่องโอกาสในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ปัญหาตรงนี้ทำให้ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งสมัครสอบ ก.พ. เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย”
ในส่วน นางสาวสุขฤทัย อุ้มอารีกุล บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยความรู้สึกหลังจากที่ได้รับสัญชาติไทยว่า “ขอบคุณทุกๆท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้ได้มีวันนี้ หลังจากที่ใช้บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนมาจนถึงอายุ 25 ปี 5 เดือน การดำเนินกระบวนการที่ยาวนานกว่า 6 ปี เริ่มตั้งเเต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2556 โดย ศ.ดร.วิทยา จันทร์ศิลา อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พาไปพบกับ ผศ.กิติวรญา รัตนมณี
จึงได้เริ่มต้นดำเนินการให้คำเเนะนำ และเริ่มดำเนินการจริงจังเมื่อ 21กุมภาพันธ์ 2560 โดยความช่วยเหลือของ 3 คณะทำงาน คือ 1.คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยนเรศวร 2.คณะทำงานของบางกอกคลินิก และ3.คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งหนูรอคอยวันนี้มานานแสนนาน
หนูอยากมีนามสกุล อยากมีสัญชาติไทย และหนูดีใจมากๆ ค่ะ หนูจะตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อเมืองไทยต่อไปค่ะ หลังจากได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย หนูก็ได้รับโอกาสดีเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของการทำงาน ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ”
มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญการเป็น พลโลก/พลเมืองโลก หรือ Global Citizenship เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ การเป็นพลโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ประเทศไหน ปัญหาสำคัญคือทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นความท้าทายของเราในฐานะสถาบันการศึกษาในการจัดเตรียมผู้คนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถมีโอกาสที่จะทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ได้ เราจะผลิตบัณฑิตเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องผลิตบัณฑิตที่มีความเป็น “พลโลก” เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ หรือมีปัญหาสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page ‘คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน Naresuan Legal Clinic’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 055-961739 ในวันและเวลาราชการ
ปรีชา นุตจัรสรายงานข่าวพิษณุโลก