ข่าวทั่วไป

มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอด บูรณาการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และผู้คนในชุมชนของประเทศไทย ขับเคลื่อน

มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอด บูรณาการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และผู้คนในชุมชนของประเทศไทย ขับเคลื่อน

BCG Model พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

 

มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) นำโดยนางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิ ฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอด เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส บูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนต่างๆ กว่า 700 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ  BCG พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คือ การยึดโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG  กับการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค โดยเฉพาะในโลกหลังโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงเรียน ผู้ประกอบกิจการด้านอาหารที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดรายได้ และเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศฝืดเคือง นักเรียนต้องหยุดเรียน ขาดการส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ เกิดอัตราเพิ่มขึ้นของภาวการณ์ขาดสารอาหาร และ ภาวะน้ำหนักตัวเกินในเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบอาหารทั้งในระดับโรงเรียนและระดับแหล่งผลิต-บริโภคอาหารในชุมชน ท้องถิ่นใกล้เคียง เพิ่มประเด็นการพัฒนาที่สูงขึ้น พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพสถานประกอบกิจการ ด้านอาหาร ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มอาหารระดับชาติ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการบริการอาหาร ที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ดีต่อสุขภาพและมีความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมนูอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มวัย ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ให้มีช่องทางซื้อ-ขายอาหาร ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตอาหารต้นทางที่เป็นอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดภัย หรืออาหารที่รักษาสิ่งแวดล้อม นำสู่ผู้ประกอบกิจการด้านอาหารทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม  รีสอร์ตในแหล่งท่องเที่ยว ผู้รับจ้างจัดบริการอาหารแก่โรงเรียน ผู้ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ และผู้สูงวัย จึงเป็นแนวคิดของ นักวิชาการ ภาคเอกชนและรัฐบาลที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบอาหารในอนาคต (Future Food System) ให้เหมาะสม ดังเช่นนโยบาย BCG economy สาขาเกษตรและอาหาร และ SDGs

ในปี 2564 มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ได้มีการดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบ คุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน พยายามผลักดัน งานอาหารโรงเรียนทั้งระบบ เข้าสู่กลไกการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติในระยะเริ่มต้นเรียบร้อยแล้ว  โดยเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ประธานอนุกรรมการเป็นผู้บริหารระดับสูง ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคณะ เลขานุการประกอบด้วย 4 องค์กรหลัก คือ (1) สำนักโภชนาการ กรมอนามัย  (2) สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. (3) มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และ (4) สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการและคณะทำงาน มีที่ปรึกษา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์  ดร.สง่า ดามาพงษ์ และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 3 คณะ ได้แก่ (1) คณะทำงานพัฒนามาตรฐานระบบ การจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน รับผิดชอบโดยมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (2) คณะทำงานพัฒนากำลังคนด้านอาหารและโภชนาการรับผิดชอบโดยสำนักโภชนาการกรมอนามัย และ (3) คณะทำงานพัฒนาระบบการติดตามและประเมิณผลภาวะโภชนาการและคุณภาพอาหารของนักเรียน รับผิดชอบโดยสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. โดยมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 25 หน่วยงาน (จากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการ สถานศึกษาที่เป็นตัวแทนจากพื้นที่ 4 ภูมิภาค สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย สถาบันโภชนาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา  และ กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ)

สำหรับ ปี 2565 มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนงานมาตรฐานระบบ ในการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน ต่อเนื่องโดยรับสมัครสถานศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมนำร่องตามมาตรฐานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัด มีกระบวนการให้ความรู้ การติดตาม กระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยและโภชนาการ สู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กวัยเรียน โดยการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ไปจนถึงระดับโรงเรียน ที่ได้ความร่วมมือจากนักเรียน-ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับอาหารเพื่อสุขภาวะที่เหมาะสมตามวัย โดยวางแผนจะมีการถอดบทเรียน และจัดทำแผนระยะ 10 ปี ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ศึกษาหาวิธีแก้ปัญหาด้านกฎระเบียบที่จำเป็น หนุนเสริมให้มีการศึกษาพัฒนารูปแบบ กลไกการทำงานของระบบอาหารชุมชนจากตำบล อำเภอ สู่ระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดความยั่งยืน นำเสนอรูปแบบผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมนำร่อง กว่า 700 แห่ง จาก สังกัดกทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สพฐ. กระจายในเกือบทุก จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้เด็กวัยเรียนสามารถเข้าถึงอาหารสุขภาวะเพิ่มขึ้น ยกระดับภาวะโภชนาการดีขึ้น สามารถนำไปขยายผลได้ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และสภาพภูมิศาสตร์ จากการพัฒนาโครงการอาหารและโภชนาการในเครือข่ายเด็กไทยแก้มใสอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ได้ค้นพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียน คือได้เกิดจุดเปลี่ยนของผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน เกษตรกร และ สถาบันการศึกษาทางวิชาการในพื้นที่ มีการทำงานร่วมกัน มีความตระหนักถึงปัญหาของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของนักเรียนและการจัดการอาหารโภชนาการของโรงเรียน โดยอาศัยปัจจัยกระบวนการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ซึ่งได้แก่ การกำหนดนโยบายของโรงเรียน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน การบรรจุเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปีของโรงเรียน การจัดการอาหารกลางวัน อาหารเช้าสำหรับนักเรียนขาดแคลน  ที่สอดคล้องกับปัญหาด้านทุพโภชนาการและพฤติกรรมด้านสุขภาพของนักเรียน รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรด้านบุคลากร องค์ความรู้ และงบประมาณของโรงเรียน

ความร่วมมือของ สสส.และมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ต่าง ๆ และสถาบันการศึกษา  พยายามดำเนินงานที่ลงลึกในรายละเอียด เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาในระดับพื้นที่ มุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนระบบคุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชนที่มี ความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และผลักดันให้เกิด การขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เข้าสู่ระบบงานประจำของโรงเรียนในระยะยาว โดยเน้นการพัฒนาและสร้างความรอบรู้เรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ (Food Literacy) แก่ครู นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งได้มีการสนับสนุนการพัฒนาหน่วยจัดการกลางผลผลิตอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงจากชุมชนเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ร้านค้า และตลาดเขียวในชุมชน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นชุมชนตัวอย่าง มีพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนระบบอาหารชุมชน ในปี 2564-2565แล้วรวม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดสุรินทร์ คาดว่า จะสามารถถอดบทเรียนในปี 2567 สู่การขยายผลในวงกว้างต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร ของประเทศไทย ให้บรรลุเป้าประสงค์ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ คือ …

“ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่า

ทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน”