“กรมเจรจาฯ” มั่นใจศักยภาพของชาไทยยังไปต่อได้อีกไกล แม้ในยุคโควิด เร่งส่งเสริมใช้เอฟทีเอ ชูจุดขายเพื่อสุขภาพเจาะตลาดบน
เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนาการเพิ่มศักยภาพชาไทยในยุคการค้าเสรี ที่โรงแรมภูใจใส เมาน์เทน รีสอร์ต ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการและเกษตรกรด้านชาไทยในจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างโอกาสการจัดจำหน่ายโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นสะพานสู่การเติบโต
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่สำรวจศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย ว่า การดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน และการสัมมนา “โอกาสของชาไทยในยุคการค้าเสรี” เมื่อวันที่ 12 – 14 กันยายน ที่ผ่านมา แสดงว่า “ต่อไปนี้อุตสาหกรรมชาไทยจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายอีกมาก เพราะ ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว อัตราการบริโภคชาของคนไทยยังไม่สูงมาก เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคชาเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสให้การเติบโตของตลาดชาในประเทศไทย โดยอาจส่งเสริมให้ผู้บริโภคดื่มชาเพิ่มขึ้นโดยใช้จุดขายเรื่องสินค้าชาอินทรีย์และสรรพคุณเพื่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามรสนิยมผู้บริโภคในลักษณะ DIY และรูปแบบการบริโภคใหม่ๆ การเพิ่มช่องทางการขาย”
ประเทศไทยสามารถปลูกชาในระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากไร่ชาภาคเหนือมีจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาจะผลิตเพื่อส่งขายจีนเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นชาสำเร็จรูปส่งออกไปยังไต้หวัน หรือขายเป็นชาราคาเกรดทั่วไปให้กับร้านชาภายในประเทศ จึงเรียกได้ว่าอุตสาหกรรมชาของไทยเป็นลักษณะรับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี เริ่มมีการสร้างแบรนด์สินค้าชาของคนไทยขึ้นมาและมีชื่อเสียงโด่งดังมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
นอกจากศักยภาพอุตสาหกรรมชาไทยแล้ว กรมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับแนวทางจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ และจะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลในความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันต่อไป
ในการทำตลาดต่างประเทศของสินค้าชา ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยสำหรับสินค้าชาเขียว (พิกัดฯ 0902.10 0902.20) ไทยสามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในประเทศในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี สำหรับสินค้าชาดำ (พิกัดฯ 0902.30 0902.40) ไทยสามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีและสามารถนำเข้าในกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ รวมถึง จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี และสำหรับผลิตภัณฑ์ชา (พิกัดฯ 2101.20) ไทยสามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี
ทั้งนี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2562) ไทยส่งออกสินค้าชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าชาดำ เฉลี่ย 1,401.7 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าชาสำเร็จรูป เป็นสินค้าในกลุ่มชาและผลิตภัณฑ์ชาที่ไทยส่งออกมากที่สุด เฉลี่ย 9.1 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ กัมพูชา (31%) เมียนมา (20%) และสหรัฐฯ (18%) สำหรับ สถิติในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม – กรกฎาคม) ไทยส่งออกชาเขียว 492.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 17.92% ส่งออกชาดำ 601.8 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 45.54% และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 47.77%
โดยในปี 2562 ไทยส่งออกชาเขียว 1,057.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย (38%) เนเธอร์แลนด์ (12%) และมาเลเซีย (9%) ส่งออกชาดำ 2,256 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคืออินโดนีเซีย (40%) สหรัฐอเมริกา (18%) และกัมพูชา (14%) และส่งออกชาสำเร็จรูป 7,032.3 ตัน คิดเป็นมูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ กัมพูชา (31%) เมียนมา (20%) และสหรัฐอเมริกา (18%)
สำหรับผู้สนใจข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ และการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.dtn.go.th หรือติดต่อศูนย์บริการข้อมูล FTA (FTA Center) โทร.0-2507-7555 ได้พร้อมกันอีกด้วย
เครดิต / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ ทั่วไทยนิวส์