23 ปีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา กับการกลับมาของปลาหายากในแม่น้ำอิง !
แม่น้ำอิงสาขาแม่น้ำโขง ที่มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำสาขา 12 ลำห้วย ในเขตอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ก่อนไหลลงสู่กว๊านพะเยา ไหลผ่านอำเภอภูกามยาว ดอกคำใต้ เชียงคำ และไหลผ่านเข้าสู่จังหวัดเชียงรายที่อำเภอป่าแดด เทิง ขุนตาล และมาบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านปากอิงใต้ ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 260 กิโลเมตร งานวิจัยชาวบ้านลุ่มน้ำอิงตอนปลายพบพันธุ์ปลา 94 ชนิด แยกเป็นปลาท้องถิ่น 76 ชนิด ปลาต่างถิ่น 18 ชนิด
ในปีพ.ศ.2538 เป็นที่ทราบกันของคนในลุ่มน้ำอิงถึงวิกฤติภาวะภัยแล้งจากการทำไร่ข้าวโพดส่งผลต่อแม่น้ำอิงแห้งขอด พันธุ์ปลาลดลงจากการหาปลาผิดวิธี ซ๊อตไฟฟ้า ระเบิด ยาเบื่อ ทดแทนการหาปลาแบบท้องถิ่นที่แทบจับปลาไม่ได้ ผลสืบเนื่องมาจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในช่วงทศวรรษ 2530 ที่มุ่งเป้าพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นพื้นที่พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำอิงถูกแปรเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดส่งผลต่อป่าต้นน้ำแห้งขอด ส่งผลต่อแม่น้ำอิงแม่สายหลักโดยตรง หลายชุมชนเกิดภาวะวิกฤติเรื่องน้ำ ทำให้หลายชุมชนหันมาพูดคุยเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำอิงตอนล่าง ร่วมกับโครงการแม่น้ำและชุมชนเข้ามาศึกษาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย
ในปีพ.ศ. 2543 แกนนำชาวบ้านได้ไปศึกษาดูงานเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และได้นำแนวคิดการทำเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำน่าน มาปรับใช้ในชุมชนแม่น้ำอิง ในปีพ.ศ. 2548 ระยะเวลา 5 ปีเริ่มเห็นผลการกลับมาของปลาในแม่น้ำอิง ทำให้แนวคิดการทำเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำอิงขยายเกือบทุกชุมชนในลุ่มน้ำอิงในปีพ.ศ. 2551 จนทำให้ปลาในแม่น้ำอิงกลับคืนมา ชาวบ้านสามารถหาปลาได้ง่ายขึ้น
นายถนอม อุตมะ ชาวบ้านงามเมือง ได้พูดถึงการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำอิงว่า
“พ่อเป็นคนเริ่มต้นเรื่องการอนุรักษ์เลยก็ว่าได้ เริ่มต้นร่วมกันคิดมาตั้งแต่ปี 2543 ก่อนหน้านั้นมีการตัดฟืนในป่าเป็นเรื่องหนัก ป่าบนดอยก็มีการบุกรุกทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายร้อยไร่ ต่างคนต่างทำถากถางกัน เปิดป่าได้ 3 ปีน้ำเริ่มแห้ง น้ำใช้ในหมู่บ้านไม่มี น้ำบ่อก็แห้งหมด อยู่มาอีก 2 ปีก็มีการปิดป่า ไม่ให้ใครไปทำไร่ข้าวโพด หลังจากนั้นก็เริ่มรักษาป่าบนดอยก่อน เป็นป่าชุมชนอนุรักษ์กันตามมีตามเกิด รังวัดที่ดินยุคทักษิณ มีนโยบายการออกเอกสารที่ดิน ป่าสาธารณะประโยชน์ นสล. ได้ทำเรื่องไปที่ดินแล้วออกมาวัดที่ดินรวมถึงหนองน้ำ 16 หนองด้วยของบ้านงามเมือง ภายใน 2 เดือน ป่าข่อยและป่าข่วงเจิงเลยได้เอกสาร นสล. มาจัดการเรื่องเขตอนุรักษ์ก่อน ได้ทดลอง ทีแรกชาวบ้านคัดค้านไม่ให้ทำ มติที่ประชุมพ่อหลวงก็ไม่ให้ทำ กลัวปัญหามันจะเกิดขึ้น เลยหยุดการทำเขตอนุรักษ์ปลาไว้ระยะหนึ่ง พ่อก็เลยไปปรึกษาคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาคนในชุมชนดู เขาเลยมีแนวคิดว่าจะลองดู เลยนำเรื่องนี้เข้าไปที่ประชุมหมู่บ้านอีกครั้ง เลยมีมติให้ทดลองทำก่อน ที่วังขอนโต้มเป็นวังที่ลึก มีการวางกฎระเบียบหมู่บ้านเข้ามาจัดการเรื่องป่า เรื่องน้ำเขตอนุรักษ์ ผลการอนุรักษ์รูปธรรมที่เห็นผลชัดเจนก็คือเรื่องจำนวนปลา แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีปลาเลย จากการช๊อตปลา ลากอวน ทำให้ปลาหายไป พอการอนุรักษ์การหาปลาได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนวันละกิโลไม่ได้เลย พออนุรักษ์ได้ 3 ปี เริ่มหากินได้ง่ายขึ้น ป่าบนดอยก็ฟื้นตัวขึ้น เริ่มมีน้ำห้วยไหลขึ้น น้ำอุดมสมบูรณ์ขึ้น”
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับนักวิจัยจากโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูปลาท้องถิ่น ได้สำรวจพันธุ์ปลาแม่น้ำอิง ที่บ้านน้ำแพร่ ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาลจังหวัดเชียงราย พบปลาที่มีขนาดน้ำหนัก 0.4 กิโลกรัมขึ้นไป จำนวน 21 ชนิด ได้แก่ ปลาบึก ปลากดเหลือ ปลาค้าว ปลากดคังตะเพียนขาว ปลาหมูขาว ปลากะลบาล ปลาจาระเม็ด ปลาดาบเงิน ปลานวลจันทร์ ปลากาดำ ปลากราย ปลาตะเพียนแดง ปลาฉลาด ปลากระแห ปลากะโฮ้ ปลาหมอช้างเหยียบ กระสูบ และปลาเกร็ดถี่
นายสามารถ เทพครเมือง ชาวบ้านน้ำแพร่ ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
“บ้านน้ำแพร่เริ่มทำเขตอนุรักษ์มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีพ.ศ.2543 บริเวณสะพานแม่น้ำอิงโดยมีกลุ่มเยาวชนน้ำแพร่ 3 หมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตอนนั้นผมเป็นสอบต.ด้วย หลังจากไปศึกษาดูงานที่จังหวัดน่านร่วมกับโครงการแม่น้ำและชุมชน ก่อนหน้านั้น ปลาค้าว ปลากราย และปลาเกือบทุกชนิดแทบหาจับในแม่น้ำอิงไม่ได้เลย ในการทำเขตอนุรักษ์แทบไม่มีคนคัดค้านเลยในตอนนั้น มีแต่คนเห็นด้วยในกำหนดพื้นที่ทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา พอทำเขตอนุรักษ์ได้ 3 ปีเริ่มเห็นผล หาปลารอบเขตอนุรักษ์ได้ง่ายขึ้น ปลาที่หายไปกลับคืนมา คือปลาค้าว ปลาตองเบ้อ มีปลาอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกทั้งขนาดและปริมาณ”
ในการสำรวจพันธุ์ปลาในแม่น้ำอิง พบปลาขนาดใหญ่หลายชนิด และมีปริมาณที่มาก เช่นปลาตะเพียน มีขาด 0.2-1 กิโลกรัม เรือหนึ่งลำได้ประมาณ 50 กว่ากิโลกรัม พบปลาบึกน้ำหนักสูงสุด 21.5 กิโลกรัม ปลากรายขนาด 2-12 กิโลกรัม ปลากดเหลือง น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัม และปลาคังน้ำหนัก 13 กิโลกรัม สร้างความประหลาดใจให้กับคณะทำงานสำรวจพันธุ์ปลา
ด้านนายธนกฤต กันแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูปลาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พูดถึงการสำรวจพันธุ์ปลาในครั้งนี้ว่า
“พึ่งเคยเห็นปลาแม่น้ำอิงที่มีขนาดแลจำนวนมากในครั้งนี้ครับ พบปลาหายากหลายชนิด เช่นปลาบึก ปลาคัง ปลาค้าว ปลากราย ส่วนที่ประหลาดใจที่สุดคือปลาดาบเงิน หรือที่ชาวบ้านว่าปลาดาบลาว พบมากในแม่น้ำอิง ในประเทศไทยเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์แต่ในแม่น้ำอิงยังคงมีปลาดาบลาวชุกชุม การศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาในครั้งนี้เพื่อเก็บข้อมูลและหาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูปลาท้องถิ่นร่วมกับชุมชนในลุ่มน้ำอิงต่อไปครับ”
ปรากฏการณ์ การทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำอิง 23 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ปลาในแม่น้ำอิงเพิ่มขึ้นเป็นที่ประจักษ์ต่อชุมชนลุ่มน้ำอิง ทั้งชนิด และปริมาณ รวมถึงปลาที่หลายไปได้กลับคืนมา เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาได้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดพื้นที่ให้มีการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ มีกฎระเบียบความคุมดูแลของคนในชุมชนในการจัดการในลุ่มน้ำอิงมีเขตอนุรักษ์พันธุ์ 64 แห่ง ทั้งในแหล่งน้ำเปิด เช่นลำห้วย แม่น้ำ และแหล่งน้ำปิด เช่นหนอง บ่อ อ่างเก็บน้ำการจัดการโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งเรื่องระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มีรูปแบบการจัดการ 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 เขตอนุรักษ์แบบถาวรไม่มีการจับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด รูปแบบที่ 2 เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาแบบกึ่งถาวรและกึ่งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมีระยะเวลาและเปิดให้จับสัตว์น้ำบางพื้นที่ และรูปแบบที่ 3 เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่เปิดพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน มีการกำหนดระยะเวลาการหยุดจับและเปิดให้จับในพื้นที่ตลอดแนวเขตในระยะเวลาที่กำหนด การทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลานอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณพันธุ์ปลายังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการเปิดให้จับปลาในเขตอนุรักษ์ แต่ปัญหาการลดลงของปลาในแม่น้ำอิงที่มีสาเหตุมาจากการหาปลาผิดวิธี การพัฒนาหรือการก่อสร้างที่ปิดกั้นลำน้ำส่งผลโดยตรงการการอพยพและวางไข่ของปลา ยังเป็นปัญหาหลักที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในลุ่มน้ำอิง ทั้งฝาย เขื่อนกั้นแม่น้ำที่ต้องร่วมกันออกแบบที่สอดรับกับวิถีชุมชนและการอพยพขึ้นลงของปลาในแม่น้ำอิง
ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้พูดถึงแนวทางการอนุรักษ์ธุ์ปลาในแม่น้ำอิงว่า
“ในการอนุรักษ์โดยภูมิปัญญาของชุมชนแล้ว เรายังมีช่องทางของกฎหมายประมงบางข้อที่เอื้อต่อชุมชนในการทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลา รวมถึงการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการใช้เครื่องมือรุนแรง แลละอีกอันที่ควรทบทวนการพัฒนาในแม่น้ำ เช่นการสร้างฝายกั้นแม่น้ำ การขุดลอกหรือทำตลิ่งที่ไปทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา ควรมีการควบคุม เช่นการสร้างประตูปิดกั้นลำน้ำก็เป็นอุปสรรคของการขึ้นลงของปลา หากเราดูในข้อกฎหมายของพรบ.ประมงในปีพ.ศ. 2548 มาตรา 63 ได้ระบุว่า ห้ามไม่ให้ติดตั้ง วาง สร้างเขื่อน ทำนบ ฝาย รั้วหรือสิ่งปลูกสร้างที่ขวางลำน้ำ แต่เขื่อนและฝายเป็นระบบชลประทานที่ต้องได้รับข้อยกเว้น ควรมีการทบทวนหากมีข้อยกเว้นมันควรจะต้องสอดรับกับการเคลื่อนย้ายของปลา การสร้างประตูระบายน้ำต้องมีข้อกำหนดเปิดให้ปลาอพยพในช่วงวางไข่ให้มันสอดรับกับกฎหมายของประมง”
ปัญหาการลดลงของพันธุ์ปลาในแม่น้ำอิงอีกสาเหตุหนึ่งการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบัน มีพื้นที่เหลือเพียง 26 แปลง พื้นที่ประมาณ 8,000 กว่า ไร่ พื้นที่ชุ่มน้ำมีความหลากหลายของระบบนิเวศย่อย เช่นหนอง หลง บวก เป็นพื้นที่สำคัญเป็นแหล่งที่อยู่และอาศัยวางไข่ของปลา สร้างความหลากหลายของพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง การอนุรักษ์วังปลาในแม่น้ำอิงเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอหากยังไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องการหาปลาผิดวิธี การแก้ไขปัญหาสิ่งก่อสร้างกีดขวางลำน้ำ การขุดลอก การสร้างฝายที่ไม่สอดคล้องกับการอพยพขึ้นลงของพันธุ์ปลาในแม่น้ำอิง
ปัญธิพงศ์ ศิริโชคธนากูล / พะเยา โทร.0990505989