ข่าวทั่วไป

โครงการวิจัยไทยบ้าน “แม่น้ำโขง สายน้ำที่เปลี่ยนไป” โครงการที่นำเสนอโดยชาวบ้านให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงปัญหาของคนลุ่มแม่นำโขง

โครงการวิจัยไทยบ้าน “แม่น้ำโขง สายน้ำที่เปลี่ยนไป” โครงการที่นำเสนอโดยชาวบ้านให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงปัญหาของคนลุ่มแม่นำโขง

เวลา 09.00 น. วันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ ศูนย์ฝึกอบรมครู โรงเรียนบ้านหัวเวียงโกศัลย์วิทย์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว โฮงเฮียนแม่น้ำของ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นายธีระพงษ์ โพธิ์มั่น ผู้อำนวยการสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขงนำคณะนักวิจัยชาวบ้านลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง และโฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้จัดประชุมรายงานวิจัยของนักวิจัยชาวบ้านลุ่มน้ำโขง จังหวัดเชียงราย ในหัวข้อ งานวิจัยชาวบ้านเรื่อง “แม่น้ำโขง สายน้ำที่เปลี่ยนไป” หลังจากได้ทำงานวิจัยชาวบ้านตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 ที่ ผ่านมา โดยมีตัวแทนชุมชนที่เป็นนักวิจัยชาวบ้าน ได้นำเสนอผลการศึกษาใน 3 หัวข้อ ได้แก่ระบบนิเวศน์ และสังคม เกษตรริมโขงไกแม่น้ำโขง ปลาการหาปลาที่เปลี่ยนไป จากการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงกว่าสอง ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการ เดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอดสาย การศึกษาวิจัยชาวบ้าน ครั้งนี้เป็นการยืนยันให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ชาวบ้านได้เข้ามาเป็นนักวิจัย โดยมีทีมเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัย


นายธีระพงษ์ โพธิ์มั่น ผู้อำนวยการจากสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า สำหรับงานวิจัยไทยบ้าน เป็นการศึกษา ปัญหาแม่น้ำโขงในภาคเหนือของไทยเกิดขึ้นมา สอดคล้องกับช่วงเวลาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนที่เกิดขึ้น เขื่อนแรกในปี พ.ศ. 2536 และการสร้างเขื่อนอื่นๆ อีกตามมา ในขณะที่นี่ถือเป็น ปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบระดับภูมิภาค และก็เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ต่อระบบนิเวศและคนในประเทศไทย แต่การแก้ไขปัญหากลับเป็นหน้าที่ของ ชาวบ้านที่ต้องจัดการกันเองตามยถากรรม การช่วยเหลือตัวเองรวมไปถึง การลุกขึ้นมารวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 และครั้งนี้ การวิจัยไทบ้านในชื่อเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของ ระบบนิเวศและชุมชนจากผลของการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง” ทำการวิจัย ใน 10 หมู่บ้าน ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงใน 3 อำเภอของจังหวัดเชียงราย คือ อำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น การวิจัยจัดทำขึ้นในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563 ถึงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งใช้เวลาดำเนินงานนานกว่า ที่วางแผนไว้เนื่องจากปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า งานวิจัยไทยบ้านเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้าน ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่คนท้องถิ่นได้พูดถึงความรู้ของตนเองในแม่น้ำโขง โดยเป็นขบวนการที่กลั่นกรองออกมาเป็นความรู้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ ที่ทำให้ทราบว่าแม่น้ำโขงมีความสำคัญกับคนลุ่มแม่น้ำโขง ทั้ง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย แม่น้ำโขงถูกกระทำและเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 25 ปี พื้นที่การเกษตร ปลาหายไป ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีข้อมูลในเชิงวิชาการให้กับหน่วยงานรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเป็นอย่างไรให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนที่จะเล่าเรื่องราวได้ดีที่สุดก็คือชาวบ้าน ที่จะสามารถเล่าเรื่องราวได้ดีที่สุด
“วันนี้ถือว่าเป็นการสำเร็จในงานวิจัยที่บรรลุเป้าหมายของงานวิจัย เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้ทำงานวิจัยมากว่า 3 ปีมานำเสนอและเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง” นายนิวัฒน์ กล่าว

รศ.ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ ผอ.ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบล กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสะท้อนอำนาจของชาวบ้าน หากมีงานวิจัยชาวบ้านออกมาเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในจังหวัดเชียงราย แต่รวมไปถึงทางภาคอีสานด้วยจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งแม่น้ำโขงในแต่ละแห่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ได้ผลการวิจัยในภาคประชาชนมากกว่า ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้รับการเชื่อถือและความเชื่อมั่นมากขึ้นจากนักวิชาการ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

นายบุญธรรม ตานะอาจ ชาวบ้าน สบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า เราทำมาหากินตามธรรมชาติ ริมแม่น้ำโขง ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยที่พวกเราชาวบ้านได้ร่วมให้ข้อมูลกับทีมวิจัย เพื่อให้ได้สะท้อนเห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน เราได้ใช้วิถีชีวิตของชาวบ้านของเราโดยอาศัยแม่น้ำโขง ทั้งหาปลา ปลูกผักริมแม่น้ำ ซึ่งหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนพวกเราได้รับผลกระทบทั้งจากการหาปลาที่ยากขึ้นปลาหายไป พื้นที่เพาะปลูกก็ลดลง ทำให้คนในพื้นที่หากินหาอยู่ยากลำบาก หวังว่าการวิจัยครั้งนี้จะทำให้เกิดกาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

นายอานนท์ สมพันธ์ ชาวบ้าน บ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ชาวบ้านมีอาชีพหลักมีอาชีพเกษตร ประมงก็เหลือน้อยลง เมื่อก่อนเราสามารถหาปลาได้ในแม่น้ำคำ และปากแม่น้ำโขง ระบบนิเวศของพื้นที่มีปลาสมบูรณ์มาก แต่ในปัจจุบันไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเมื่อก่อนทำให้คนที่ประกอบอาชีพหาปลา ลดลง และผู้ที่ประกอบอาชีพ

นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า เราได้รวบรวมข้อมูลจากผู้รู้จากทั้ง 13 ระบบนิเวศ ลุ่มแม่น้ำโขง ในพื้นที่ 3 อำเภอ ริมแม่น้ำโขง จ.เชียงราย โดยเราได้รวบรวมข้อมูลทั้งพืช สัตว์ ปลา นก ในพื้นที่ จากการเก็บข้อมูลเราได้เห็นว่าปัจจุบันคนที่หาปลา เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น คนรุ่นใหม่ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้ ทำให้ต้องออกจากหมู่บ้านไปทำงาน ชาวประมงบางคนผันตัวนำเรือเป็นเรือรับจ้าง หรือทำงานช่าง การหาปลากลายเป็นอาชีพเสริม ในช่วงที่มีการลงพื้นที่ทำงานวิจัยไทยบ้าน เราได้ทำการปล่อยพันธุ์ปลา และผสมพันธุ์ปลาลงในแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มปริมาณพันธุ์ปลาให้กับแม่น้ำโขง

นายจีระศักดิ์ อินต๊ะยศ กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ทุกวันนี้ได้ทำหน้าที่วัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงและความขุ่นของน้ำ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ร่องน้ำ ดอนทรายหายไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อก่อนในฤดูฝนน้ำสูงสุด 7-8เมตร ฤดูแล้ว ประมาณ 70-80 เซนติเมตร ปัจจุบันระดับแม่น้ำโขงขึ้นไม่ถึง 6 เมตร แต่ฤดูแล้งกลับมีระดับน้ำสูง 1.5 เมตร ทำให้ไม่สามารถปลูกผักได้ หรือเก็บไกได้ ในช่วงฤดูฝนกลับมีน้ำน้อยทำให้น้ำไม่สามารถดันเข้าไปในแม่น้ำสาขา ทำปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขาได้ ซึ่งทำให้เกิดการลดลงของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง การหาปลาของชาวประมงในแม่น้ำโขงลดลง การเกษตร การประมงของคนในพื้นที่ยากลำบากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากเขื่อนเป็นหลัก ที่ทำให้เกิดการเสียหายของพันธุ์ปลา และระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนิเวศ และวิถีของชุมชน

นายชวฤทธิ์ บุญทัน ชาวบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากที่ได้เริ่มทำงานที่บ้านและอาศัยอยู่กินกับแม่น้ำโขง ซึ่งผมเป็นคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันการหาปลาในแม่น้ำโขงหาได้ยากมาก ทั้งการไหลมอง วิถีชีวิต การหาปลาหายไป คนห้วยลึกย้ายมาจาก สปป.ลาว มาอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งเราได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ที่อาศัยแม่น้ำโขงในการหาอยู่หากินก่อนหน้านี้เรามีปลามากมาย แต่ทุกวันนี้หาปลาไม่ได้ เพราะมีการสร้างเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขง ทำให้เราต้องหาทางเอาตัวรอดเพราะทุนจากจีนเข้ามาในแม่น้ำโขง ซึ่งนอกจากการเขื่อนแล้ว ทุนนิยมที่เข้ามาทำกาเกษตรริมแม่น้ำโขง เช่นการปลูกกล้วยจำนวนมากที่ส่งผลกระทบในแม่น้ำโขงโดยปล่อยสารเคมีลงในแม่น้ำโขงทำให้ปลาหายไป จากในพื้นที่แม่น้ำโขงที่บ้านห้วยลึก
นางสาว อริตา รัชธานี จากสมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านพบว่า การทำเกษตรริมแม่น้ำโขงตามฤดูกาล ในพื้นที่หาดบ้าย เมื่อก่อนทำการเกษตรได้สบาย สามารถปลูกถั่วลิสง ผักสวนครัว สมบูรณ์จากน้ำในแม่น้ำโขง ผลผลิตสวยงาม แต่ปัจจุบันการทำการเกษตรริมแม่น้ำโขงลดลงเพราะการสร้างพนังริมแม่น้ำโขง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการขึ้นลงที่ไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตเสียหาย ฤดูแล้วน้ำมาก ฤดูฝนน้ำไม่มี การขึ้นลงของน้ำไม่ได้รับการแจ้งเตือนหลายครั้งที่ถูกน้ำพักพื้ชผักหายไปกับน้ำ

“เมื่อก่อนชาวบ้านมีรายได้จากการเกษตรริมแม่น้ำโขงอย่างมาก สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ พืชผักสวยงาม ขายได้ราคาสูง เพราะน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันไม่ชาวบ้านไม่สามารถปลูกผักริมแม่น้ำโขงได้เหมือนก่อน”นางสาว อริตา กล่าว

สำหรับการเก็บไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง จากการสำรวจพบว่าใน1ปีชาวจะเก็บได้ปีละครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน ซึ่งไกก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเช่นกัน คือในช่วงที่เขื่อนปล่อยน้ำมามากก็ไม่สามารถเก็บไกได้ หรือปล่อยน้ำมาน้อยก็จะทำให้ไกแห้งตาย ซึ่งไกเป็นรายได้หลักของครอบครัวได้ บางปี สามารถเก็บเงินได้ 3-4 หมื่นบาท ต่อคน โดยระยะเวลาเก็บไก จะเก็บได้เพียงปีละครั้ง ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ปัจจุบันการเก็บจากการสำรวจในทุกหมู่บ้านพบว่าเราได้เก็บข้อมูลจากบ้านห้วยลึก และบ้านแจ่มป๋อง ข้อมูลของชาวบ้านทราบว่า ระบบของน้ำส่งผลโดยตรงต่อการเกิดไก ทำให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างมาก

นายพิษณุกรณ์ ดีแก้ว เจ้าหน้าที่ภาคสนามสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปตั้งปี 2539 เมื่อก่อนคนหาปลา ล่องเรือเพียง 200-300 เมตรก็สามารถหาปลาได้เพียงพอสำหรับนำมาจำหน่ายและกินในครอบครัว แต่ปัจจุบันชาวประมงในแม่น้ำโขงไม่สามารถหาได้แล้ว ในสี่ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ลงปลาในแม่น้ำโขงเท่าไหร่ เพราะปริมาณปลาหลายสายพันธุ์หายไปจำนวนมากการเก็บข้อมูลจากชาวประมงในแม่น้ำโขง พบว่าเมื่อก่อนปลาในแม่น้ำสามารถเลี้ยงชุมชนได้ทั้งชุมชน ปัจจุบันเพียงแค่จะหามาทานในครอบครัวยังเป็นสิ่งที่ยากลำบาก การลงเรือหาปลาในแต่ละครั้งไม่สามารถเดาได้ว่าจะสามารถได้ปลากับมาหรือไม่ การหาปลาที่ได้มาปัจจุบันมีเพียงพอสำหรับกินในครอบครัวเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับไปจำหน่ายได้
“ในอนาคตอุปกรณ์หาปลา เรือหาปลา อาจจะถูกเก็บไว้เป็นเพียงสิ่งของโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาชมเท่านั้น เพราะคนรุ่นหลังก็ไม่ได้ยึดอาชีพหาปลาอีกแล้ว คนรุ่นใหม่ต้องออกไปทำงานเมืองหลวง เพราะการหาปลาไม่สามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้” นายพิษณุกรณ์ กล่าว

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า หลังจาก 25 ปีจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างเสร็จ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับกาสร้างเขื่อนไปเรื่อยๆ ทั้งหมด 11 เขื่อน และตอนล่างอีก 2 เขื่อน และการะเบิดแก่ง มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้แม่น้ำโขงสูญเสียระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชน สูญเสียความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำ ระหว่างที่เกิดการสูญเสีย ก็ควรมีการศึกษาเรื่องระบบนิเวศ มีผลงานทางการศึกษาเกิดขึ้นหลายชิ้น

สิ่งที่ได้มาก็คือ พลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองการพัฒาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว แต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เคยได้รับการแก้ไขเยียวยา และฟื้นฟู แม้ว่าเขื่อนมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง แค่คนที่สร้างเขื่อนไม่เคยมีใครมารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

“งานวิจัยไทยบ้าน เป็นงานของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้รายงานให้ผู้ที่มีอำนาจและหน่วยเกี่ยวข้องได้รับรู้ว่าแม่น้ำทุกสายบนโลกใบนี้บางสายถูกสร้างเขื่อน แต่ควรจะมีบางสายน้ำควรจะรักษาไว้เพื่อให้เป็นธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์ไว้ ซึ่งแม่น้ำโขงก็เป็นกรณีศึกษาที่จะทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์ และการพัฒนา ให้ไปร่วมกัน โดยเป็นทางสายกลางของการพัฒนา เพื่อจะรักษาแม่น้ำที่ยังหลงเหลือความเป็นธรรมชาติอยู่ แม่น้ำโขงก็ควรจะได้รับการฟื้นฟู และสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความรับผิดชอบของเขื่อนที่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ต้องมีการรับผิดชอบและฟื้นฟูโดยไม่มีเงื่อนไขให้ธรรมชาติกลับคืนสู่าภาพเดิมให้มากที่สุด โดยไม่ควรมีการขัดแย้งกัน ควรจะเป็นการพัฒนาที่ไปร่วมกันพร้อมกับการอนุรักษ์ พื้นที่แม่น้ำโขงไม่ควนรจะเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ” นายสมเกียรติ กล่าว

ทีมข่าว ทั่วไทยนิวส์ / รายงาน โทร.081-4242-292