ปทุมธานีนายกแจ๊สจัดยิ่งใหญ่ประเพณีแข่งจรวดมอญหนึ่งเดียวในประเทศไทย
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 เมษายน 2566 ที่ลานอเนกประสงค์ตำบลเชียงรากใหญ่ (ริมถนน347) อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีจุดลูกหนูจังหวัดปทุมธานี ประจำปี 2566 พร้อมขบวนแห่ลูกหนูจรวดมอญทั้ง 22 คณะ ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่มีประชาชนเข้าเที่ยวชมประเพณีลูกหนูจำนวนมาก
บรรยากาศงานสืบสานประเพณีจุดลูกหนูจังหวัดปทุมธานี มีขบวนแห่ลูกหนู จำนวน 22 คณะ ได้แก่ 1.กต.ตร.ปทุมธานี (บางพัง), 2.วัดบางคูวัดใน, 3.วัดศิริจันทาราม, 4.วัดกลางคลองสี่, 5.วัดบางหลวง, 6.วัดบางตะไนย์, 7.วัดโบสถ์, 8.วัดปัญจทายิกาวาส, 9.วัดป่ากลางทุ่ง, 10.วัดตลาดใต้, 11.วัดเพิ่มทาน ส่วนสาย , 12.วัดราษฎร์ศรัทธาราม, 13.วัดบางโพธิ์ใน, 14.วัดสะแก, 15.วัดสายไหม, 16.วัดสังลาน (ศิษย์หลวงปู่สุรินทร์), 17.วัดบ่อทอง, 18.วัดกลางคลองสาม, 19.วัดชินวราราม, 20.วัดแสวงสามัคคีธรรม, 21.วัดโสภาราม, 22.วัดบางกุฎีทอง โดยเริ่มขบวนมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีจนมาถึงลานอเนกประสงค์ตำบลเชียงรากใหญ่ (ริมถนน347) และมีการบวงสรวงตามประเพณีจุดจรวดมอญหรือที่เรียกกันว่าลูกหนูนับว่าเป็นประเพณีที่เก่าแก่อยู่คู่กับชนชาวมอญ โดยวิธีจุดลูกหนูจะใช้คบเพลิงไปจุดสายชนวนตรงท้ายตัวของลูกหนู เมื่อไฟลามเข้าไปถึงดินปืนก็จะเกิดระเบิดขับดันตัวลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้าอย่างแรง พอสุดลวดสลิงจะพุ่งเข้าชนปราสาททันที แล้วกรรมการจะให้คะแนนไว้ ของใครชนที่สำคัญก็จะได้คะแนนมากและได้รับชัยชนะไป สำหรับรางวัลในการจุดลูกหนู 1. พิชิตยอดปราสาทตกหล่นถึงพื้นดิน จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 15,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลผู้พิชิตยอดปราสาท 2. พิชิตเสาปราสาทโดยเสาแต่ละต้นขาดหลุดจากกันหรือถอนจากพื้นดิน จำนวน 12 ต้นๆ ละ 1,000 บาท 3. พิชิตป้าย โดยลูกหนูโดนป้ายล้มถึงพื้นดิน จำนวน 200 ป้ายๆ ละ 200 บาท
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า งานสืบสานประเพณีจุดลูกหนูจังหวัดปทุมธานี ในวันนี้ประเพณีจุดลูกหนู นับว่าเป็นประเพณีที่เก่าแก่อยู่คู่กับชนชาวมอญ โดยเฉพาะในจังหวัดปทุมธานีมานานร่วม 600 ปี และประเพณีจุดลูกหนูนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะมีการจัดขึ้นเฉพาะตามวัด ที่มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีเชื้อสายรามัญมรณภาพแล้วเท่านั้น
ซึ่งประเพณีนี้ ถ้าพี่น้องชาวจังหวัดปทุมธานี ไม่ร่วมกันรักษาไว้อาจจะทำให้เกิดการสูญหายก็เป็นได้จากการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ดำเนินการจัดงานสืบสานประเพณีจุดลูกหนู นับว่าเป็นการดีที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีที่เกิดคู่กับชนชาวไทยเชื้อสายรามัญในจังหวัดปทุมธานี ให้คงอยู่สืบไป พร้อมกับเป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคี ความปรองดองของกลุ่มชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดปทุมธานีด้วย.