ข่าวทั่วไป

กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดชุมชนแยกพระพุทธอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เกือบ 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา หลังได้รับความเดือดร้อนห้ามขายของบนทางจราจรและไหล่ทาง

กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดชุมชนแยกพระพุทธอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เกือบ 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา หลังได้รับความเดือดร้อนห้ามขายของบนทางจราจรและไหล่ทางโดยให้ทำการรื้อถอนร้านค้าออกจากผิวจราจรโดยกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าไม่เห็นด้วย เนื่องจากตลาดชุมชนแห่งนี้มีมานานกว่า 20 ปีเป็นวิถีชีวิตคนมุสลิมในท้องถิ่น เหมือนตลาดริมทางทั่วไปในหลายพื้นที่ที่ตั้งอยู่ริมถนนและควรอนุรักษ์ไว้หรือพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านเศรษฐกิจมากกว่าจะทำการรื้อถอน

 


เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ ที่ 5 เมษายน 2566 กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดสี่แยกพระพุทธ อ.เทพา จ.สงขลา เกือบ 100 คน เดินทางด้วยรถบัส 2 คัน นำโดยนายนพดล รามันเซะ และนายสการียา สาหลี ตัวแทนชาวบ้านตลาดนัดพระพุทธ เพื่อมายื่น หนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เรื่อง ห้ามขายของบนทางจราจรและไหล่ทาง โดยให้พ่อค้าแม่ค้ารื้อถอนร้านค้าออกจากผิวจราจร
และที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา นายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ได้มอบหมายให้นายทวีศักดิ์ สุทธินนท์ นิติกรชำนาญการพิเศษ เป็นตัวแทนรับหนังสือจากนายนพดล รามันเซะ และนายสการียา สาหลี ตัวแทนชาวบ้านตลาดนัดพระพุทธ ทั้งนี้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา รับว่าจะได้ส่งเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับตลาดนัดชุมชนแยกพระพุทธ ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา เป็นตลาดนัดชุมชนริมทางตามวิถีชาวบ้านมุสลิมดั่งเดิมมาตั้งแต่อดีต ยาวนานมาประมาณ 20 ปี สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว/ชุมชนคนในพื้นที่ให้มีอาชีพทำกินขั้นพื้นฐานกว่า 162 ครัวเรือน ก่อให้เกิดความสะดวกต่อวิถีชีวิตในการจับจ่ายซื้อของจากสังคมคนในพื้นที่และนอกพื้นที่มาโดยตลอด

ทั้งนี้ตลาดนัดพระพุทธฯ เปิดทำการค้าขายในช่วงเย็นเท่านั้น ไม่เป็นการกีดขวางทางจราจรบนถนนส่วนรวมแต่อย่างใด เนื่องจากค้าขายริมทางแยกโซนการค้าขายชัดเจนไม่ยุ่งเกี่ยวกับถนนเส้นหลัก (ถนนสาย 43) บริเวณที่ตั้งร้านค้าตั้งแต่แยกพระพุทธเข้ามาเป็นทางตัน ไม่ใช่เส้นทางสัญจรของคนนอกพื้นที่ อีกทั้งคนในพื้นที่ก็ไม่กระทบการใช้ถนนระหว่างโซนร้านค้าแต่อย่างใด
และสิ่งที่สำคัญที่สุดของตลาดนัดแห่งนี้คือ เป็นตลาดชุมชนที่แท้จริงไม่มีนายทุนหรือบุคคลใดอยู่เบื้องหลัง ขับเคลื่อนด้วยชาวบ้านทั้งจากในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงด้วยการนำเอาผลผลิตที่หาได้จากท้องถิ่น ทั้งจากทะเล และเพาะปลูก มาสร้างรายได้เลี้ยงชีพ ตรงส่งถึงผู้บริโภคด้วยราคาถูกไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางใดๆ ทำให้ได้ของถูกและสดใหม่จำหน่ายแก่ชาวบ้านทั้งในและพื้นที่ใกล้เคียงไว้ใช้บริโภคภายในครอบครัว สร้างกระแสเงินหมุนเวียนวันละ 150,000 บาท เดือนละ 4,500,000 บาท ปีละ 54,000,000 บาท

เมื่อ 7 มี.ค.66 แขวงทางหลวงสงขลาที่ 2 (นาหม่อม) กรมทางหลวง โดยหมวดทางหลวงเทพา ได้ออกหนังสือห้ามชาวบ้านในชุมชนทุกคน ขายของในตลาดนัดพระพุทธอีก โดยให้รีบรื้อร้านค้าของชาวบ้านที่มีมาอย่างยาวนานออกภายในวันที่ 15 มี.ค.66 ยิ่งกว่านั้นได้นำเอาข้อกฏหมายมาบีบบังคับจิตใจว่าจะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแก่ชาวบ้านผู้หาเลี้ยงชีพในตลาดนัดแห่งนี้ด้วย
ข้อเรียกร้อง
1) ตลาดนัดชุมชนพระพุทธ เป็นตลาดนัดที่ไม่แตกต่างจากตลาดนัดทั่วไปที่ค้าขายอยู่ริมทางข้างถนน มีการแยกโซนค้าขายไม่กีดขวางทางจราจรหลักชัดเจน ที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนใดๆ ถือเป็นตลาดนัดเก่าแก่ที่ควรค่าแก่การคงไว้ใน อ.เทพาฯ มากที่สุด ไม่ควรจะถูกให้รื้อถอน แต่ควรจะเป็นแหล่งศูนย์รวมสินค้าชุมชน เนื่องจากมีสินค้าหลายประเภทที่นำมาขายยังชุมชนแห่งนี่
2) ปรากฏกระแสข่าวลือว่า การสั่งให้ย้ายร้านค้าในตลาดแห่งนี้ออก เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคการเมืองหนึ่ง เนื่องจากมีการหาเสียงไว้ว่าในอนาคตได้เตรียมโครงการสร้างสะพานข้ามแยกพระพุทธ ระหว่างขาขึ้นและขาล่องไปยัง จ.ปัตตานี ไว้แล้ว หากไม่รีบไล่ให้ชาวบ้านย้ายตลาดออกจากจุดเดิม เมื่อถึงกำหนดการสร้างสะพานข้ามแยกพระพุทธ กลุ่มชาวบ้านร้านค้าในตลาดจะเป็นหนามยอกอกคัดค้านโครงการดังกล่าว จึงรีบบีบบังคับกรมทางหลวงให้รีบเร่งไล่ชาวบ้านออกจากตลาดแห่งนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งกรณีดังกล่าวขอให้ทางผู้ว่าจังหวัดสงขลา สืบข้อเท็จจริงเพื่อชี้แจงแก่ชาวบ้านด้วย
3) ขอให้ผู้ว่าจังหวัดสงขลาให้คำรับรอง คำมั่นสัญญากับชาวบ้านร้านค้าฯ ว่าจะไม่มีหน่วยงานใดมายุ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้ใด มีแต่กระจายรายได้สร้างอาชีพให้กับผู้ยากไร้ในฐานะพ่อค้าแม่ค้าทั้งสิ้น จึงขอความอนุเคราะห์ให้ตลาดแห่งนี้ยังคงอยู่เพื่อเป็นวิธีชีวิตของคนในชุมชนต่อไป

พี่เสือ นักข่าวสงขลา