ข่าวพาดหัวทุกข์ชาวบ้านหมอกควันพิษ PM 2.5ไฟป่า

เชียงราย – ชาวเชียงรายรวมตัวจี้จังหวัดหาทางแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ

เชียงราย – ชาวเชียงรายรวมตัวจี้จังหวัดหาทางแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช กลุ่มคนซึ่งใช้ชื่อว่า “ประชาชนชาวเชียงราย” ประมาณเกือบ 200 คน ประกอบด้วยคณะสงฆ์และสามเณรจากวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ กลุ่มแพทย์ในจังหวัดเชียงราย ภาคเอกชน เยาวชน องค์กรเอกชน ได้รวมตัวจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และยื่นหนังสือต่อนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของจังหวัดทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีการถือป้ายข้อความต่างๆ บางป้ายเขียนล้อคำขวัญประจำจังหวัด รวมทั้งเปิดให้ผู้คนเขียนข้อความแสดงความเห็นบนกระดาน ก่อนผลัดกันปราศรัยยังได้มอบน้ำดื่ม เกลือแร่ ที่มีผู้นำไปบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเพื่อนำไปใช้ในภารกิจอีกด้วย

แพทย์หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมปราศรัยตอนหนึ่งว่า ฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อคนทุกเพศวัย โดยที่คนทั่วไปยังไม่ตื่นตระหนก ว่ากรณีเด็กเล็กหากสูดเข้าไปจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ส่วนผู้ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอด จะกระทบหนัก และในระยะยาวจะทำให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นี้อายุสั้นลง 4 ปี การป้องกันด้วยหน้าการที่ใช้กันโดยทั่วไปจะไม่ได้ผลกับฝุ่นขนาดเล็กนี้แต่ต้องใช้หน้ากากแบบ M 95 ขึ้นไปเท่านั้น
ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายชุติเดช กมนณชุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) และนายสมเกียรติ ปูกา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย เข้าชี้แจงต่อผู้ชุมนุม โดยตอนหนึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายระบุว่า จังหวัดได้วางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ส่วนไฟป่าในจังหวัดพบว่าเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ป่าเขาสูงชัน ส่วนผู้ก่อเหตุน่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟจุดใดได้แล้วก็จะย้ายไปเผาจุดใหม่อีก ปัจจุบันจึงใช้มาตรการเข้มข้นจับกุมผู้ลักลอบเผาและทำลายป่าได้แล้ว 18 ราย
ทั้งนี้ได้ช่วงที่เปิดให้ประชาชนสอบถามได้มีนายสราวุทธิ์ หรือเซียนแว่น กุลมธุรพจน์ แกนนำกลุ่มราษฎรเชียงราย ถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งๆ ที่ทาง พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ประกาศให้อำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเต็มที่ ซึ่งนายวราดิศรชี้แจงว่า หากประกาศจะส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติมมา และงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันยังถือว่าเพียงพออยู่


ทางด้าน นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย บอกว่า ตอนนี้เรามีกำลังเจ้าหน้าที่ 700 นาย และมีเครือข่ายอีก 2,300 คนที่ร่วมกับทางจังหวัดและอำเภอเพื่อดับไฟป่า สำนักฯสั่งการให้ทุกหน่วยอยู่ในพื้นที่ควบคุมการดับไฟป่าด้วยตนเอง ส่วนในระยะกลางและระยะยาวทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช ให้ทำบัญชีผู้เลี้ยงสัตว์ในเขตรอยต่อกับเขตอุทยานและผู้หาของป่า เพื่อที่จะควบคุมการเข้าพื้นที่ในอนาคต หากผู้ใดมีพฤติกรรมการเผาจะได้ใช้มาตรการทางกฏหมาย การออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นกระบอกเสียงเพื่อให้คนหยุดเผา (มีเสียงสัมภาษณ์)
ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย บอกด้วยว่า สถานการณ์ไฟป่าปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่ไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง และไฟป่าบนดอยจระเข้ในเขตอำเภอเมืองเชียงราย การเกิดไฟป่ามักจะเกิดเวลากลางคืนทำให้ยากต่อการเข้าไปดับไฟ อยากจะวิงวอนและขอความร่วมมือจากประชาชนที่ยังไม่หยุดเผา อยากให้เห็นแก่สุขภาพของทุกคนโดยเฉพาะลูกหลานของพวกรา ที่มีโอกาสเป็นโรคปอดกันสูงหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้

ปัญธิพงศ์ ศิริโชคธนากูล / เชียงราย โทร.081-4242-292