ปทุมธานี – องค์การพุทธโลกและผู้นำพุทธนานาชาติร่วมสัมมนาวันคุ้มครองโลก ชี้ธรรมะคุ้มครองใจ คุ้มครองโลก
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 เมษายน 2566 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยว่า องค์การพุทธโลก WAB (World Alliance of Buddhists) ร่วมกับเครือข่ายพุทธนานาชาติ สำนักต่างประเทศ , สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จัดงานสัมมนาวันคุ้มครองโลก เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ Clean the Mind Clean the World โดยเป็นการจัดงานทั้งห้องสัมมนา และถ่ายทอดสดผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM และ เฟสบุ๊ค เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลก และเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงทรัพยากรโลก ที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ มนุษย์ โดยเฉพาะจิตใจของมนุษย์ ถ้าทุกคนมีจิตใจดี ย่อมเกิดการแบ่งปัน อันจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม ประเทศชาติ และโลก
ภายในงานได้รับความเมตตาจาก พระอนุรุทธะ เลขาธิการองค์กรยุวสงฆ์โลก จากประเทศศรีลังกา กล่าวเปิดงาน พระ ดร.พรชัย พลวธมฺโม ประธานองค์การพุทธโลก ( World Alliance of Buddhists-WAB ) ได้กล่าวให้การต้อนรับ โดยมีวิทยากร ผู้นำองค์กรนานาชาติ ร่วมแบ่งปัน 12 ท่าน อาทิ ศ.นพ.วิชัย เอกทักษิณ นักปฏิบัติธรรม ผู้เชียวชาญระบบน้ำเหลือง ที่ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของอาหาร วิสุทธิมังสวิรัติ ที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว และสามารถปฏิบัติทางใจ ได้ดี พระธรรมปิยะ เลขาธิการสหพันธ์พุทธนานาชาติ จากอินเดียที่เน้นให้ลงมือทำทันทีในสิ่งที่ดี พระดาฮุย ประธานองค์กรยุวพุทธไต้หวัน ที่กล่าวว่าการปฏิบัติทางจิตให้ใจหยุดนิ่ง เป็นรากฐานของความดีงามทั้งปวง ดร.อองซีอิ๊ว ประธานสมาคม พุทธมะละกาและเลขาธิการสมาคมพุทธแห่งมาเลเซีย กล่าวถึงคัมภีร์วิมลเกียรตินิทเทสสูตร ซึ่งถ่ายทอดในรูปบุคลาธิษฐาน โดยปฏิปทาของท่านวิมลเกียรติ เป็นอุบาสกผู้เลิศในการแสดงธรรม ด้วยจิตตั้งมั่นในโพธิญาณ หากนำ หลักธรรมในพระสูตรนี้ไปปฏิบัติหรือสวดสาธยาย คัดลอกจารึก อานิสงส์จะบังเกิดคือ มีเหล่าเทวดาตามปกปักรักษาดูแล ปิดทุคติภูมิ และบรรลุธรรมได้ ดร. มิถิลา โชว์ดรี้ เลขาธิการองค์การพุทธโลก จากบังคลาเทศได้อ้างถึงวัดพระธรรมกายที่จัดงานวันธรรมคุ้มครองโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะเป็นวันคล้ายวันเกิด หลวงพ่อธัมมชโย ผู้นำสาธุชนทั่วโลก ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ปี 2513 จนมีศิษยานุศิษย์ทั่วโลก สร้างสันติสุขที่แท้จริงจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น
ทั้งนี้ พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า วันคุ้มครองโลก ชาวโลกจะคำนึงถึงการรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ทางพุทธศาสนาทุกคนเป็นสิ่งแวดล้อมซึ่งกันและกัน การรักษ์โลก จึงให้ปฏิบัติตามหลักธรรมคุ้มครองโลก มีหิริ-โอตตัปปะ ซึ่งทุกองค์กรพุทธ ต้องช่วยกันเผยแพร่ ธรรมะ และทำงานร่วมกัน ได้นำเสนอผลการศึกษาในหัวข้อ “อนาคตภาพการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรพุทธนานาชาติ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งต้องคำนึงถึง ปัจจัยหลัก คือ 1.เป้าหมายวัฒนธรรมองค์กร, 2.พัฒนาบุคลากร, 3.หลักธรรมะ 4.การใช้เทคโนโลยี นวตกรรมการสื่อสาร, 5.การประยุกต์ตามยุค กลุ่มคน และบริบททางสังคม ทั้งหมดทั้งมวล ต้องอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายองค์กรพุทธนานาชาติที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทำงานเป็นทีม เป็น “ทีมพุทธศาสนา” เพราะเราทุกรูปทุกคน เป็นนับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
วันคุ้มครองโลก ถือกำเนิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2513 ในสหรัฐอเมริกา เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนใน ที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองโลก” (Earth Day) โดยการนำของ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Earth Day เมื่อ พ.ศ. 2538 องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้พร้อมใจกันมีมติเอกฉันท์ให้วันคุ้มครองโลก 22 เมษายน วันที่โลกถูกคุ้มครองด้วยธรรม เป็นวันที่ชาวพุทธจะได้จัดกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรักษาใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ โดยการจัดกิจกรรมทำความสะอาดศาสนสถาน และการเจริญสมาธิภาวนา กลั่นจิตกลั่นใจให้ใสควบคู่กันไปโดยเฉพาะการเจริญสมาธิ (Meditation)ภาวนา เพื่อกลั่นจิตกลั่นใจให้ใส อันจะเป็นการคุ้มครองโลกอย่างถาวร โดยใช้คำขวัญว่า “Clean the World Clean the Mind ” และ ในการประชุมสมัชชาสามัญสหประชาชาติ เมื่อ ปี พ.ศ. 2552 ได้รับรองให้วันที่ 22 เมษายน เป็นวันคุ้มครองโลก ( International Mother Earth Day ) ที่ resolution A/RES/63/278 นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนจากมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันคุ้มครองโลกทุกปีด้วย.