สำนักศิลปากรที่ 9 สร้างการรับรู้ร่วมกับชุมชน ความสำคัญของโบราณสถาน อุโบสถ (สิม) วัดมาลาภิรมย์ อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด
วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เป็นประธานในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ร่วมกับชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของโบราณสถาน ในเขตรับผิดชอบ และรับมอบอุโบสถ (สิม) ที่บูรณะแล้วเสร็จ ณ วัดมาลาภิรมย์ ตำบลเชียงใหม่ อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นางอโนชา ทับทิม หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด นางกุศล สายธนู ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชม ผู้นำหมู่บ้าน ประชาชน และนักเรียน เข้าร่วม
วัดมาลาภิรมย์ ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2435 ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านหนองหูลิง หรือชื่อเดิมวัดมาลาหนองหูลิง ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดมาลาภิรมย์ เนื่องจากสถานที่สร้างวัดประกอบไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับจำนวนมาก วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2443 มีอุโบสถ (สิม) เป็นศิลปกรรมแบบพื้นถิ่นอีสาน สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 ลักษณะเป็นสิมทึบ ก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานบัวเตี้ยๆ ขนาด 3 ห้อง ผนังด้านหน้า (ทิศตะวันออก) ทำเป็นประตูทางเข้าและบันไดทางขึ้น ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ทำเป็นช่องหน้าต่างขนาดเล็กทรงจั่ว ปัจจุบันมุงด้วยสังกะสี มีชายคาหรือปีกนกยื่นออกโดยรอบ รองรับด้วยเสาไม้ นอกจากนี้บริเวณผนังด้านนอกยังมีรูปแต้ม (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง) ซึ่งสภาพก่อนบูรณะ เกิดความชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากอาคารไม่ได้ถูกใช้สอยเป็นประจำ เช่นในอดีต ผนังอาคารปรากฎรอยแตกร้าวอยู่ทั่วไป ผิวปูนฉาบหลุดร่อน จิตรกรรมบนผนังลบเลือน และหลังคาอุโบสถ (สิม) พบหลักฐานการถูกซ่อมเปลี่ยนแปลงรูปทรงมาแล้วจากการซ่อมแซมในอดีต วัสดุมุงหลังค่าเป็นสังกะสีแผ่นลอนอยู่ในสภาพที่ผุชำรุด ส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของหลังคา ดังนั้น กรมศิลปากรจึงได้จัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2565 เพื่อดำเนินงานโครงการบูรณะอุโบสถ (สิม) วัดมาลาภิรมย์ ด้วยงบประมาณ 2,020,000 บาท และขณะนี้ได้ดำเนินการบูรณะแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา และทำพิธีรับมอบขึ้นในวันนี้
นายธนภัทร จิตสุทธิผล กล่าวว่า สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของโบราณสถาน รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนในชุมชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อนโยบายและการดำเนินการของหน่วยงาน เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจถึงคุณค่าความสำคัญของโบราณสถาน ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนการบ่มเพาะ พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่คนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งมุ่งเน้นสร้างขยายเครือข่ายชุมชนคุณธรรมร่วมสร้างสังคมคุณธรรมทั่วประเทศ ผ่านกลไกพลัง “บวร” บ้าน วัด/ศาสนสถาน โรงเรียน/ราชการ บูรณการความร่วมมือขับเคลื่อนดำเนินงานในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ สังคมไทยเป็น “สังคมคุณธรรม” ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป