ข่าวทั่วไป

ปทุมธานี – วัดซอยสามัคคี(ธรรมสุขใจ)จัดกิจกรรมตลาดนัดคุณธรรมและพิธีกวนข้าวทิพย์

ปทุมธานี – วัดซอยสามัคคี(ธรรมสุขใจ)จัดกิจกรรมตลาดนัดคุณธรรมและพิธีกวนข้าวทิพย์
วันที่ 1 มิถุนายน 2566 พระครูพิศาลธรรมานุวัตร (สมนึก เตชธมฺโม)เจ้าอาวาส วัดซอยสามัคคี (ธรรมสุขใจ) เจ้าคณะตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัด ปทุมธานี ได้จัดกิจกรรมตลาดนัดคุณธรรม โครงการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ โดยได้รับความเมตตาจาก พระราชสุทธิธรรมาจารย์ (สําอาง ตานทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ประธานฝ่ายสงฆ์ นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมพิธี

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัด ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติระยะที่ 2 ในการส่งเสริมขับเคลื่อนคุณธรรมเพื่อนำจังหวัดปทุมธานีมุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่อยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนาธรรมไทยและคุณธรรม 5 ประการ ประกอบไปด้วย พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู กิจกรรมตลาดนัดคุณธรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ไดมีหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายได้ประสานความร่วมมือในการส่งเสริมขับเคลื่อนสังคมด้วยหลักคุณธรรม บ่มเพาะ ปลูกฝัง จิตสำนึกของประชาชนเพื่อให้เข้าถึงบุคคล ครอบครัว ชุมชนและองค์กร
ในส่วนของ ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่ปะปนกับพิธีกรรมของศาสนาพุทธ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลที่นางสุชาดาได้ปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระโคตมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ เมื่อได้จัดทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์ ในประเทศไทย ชาวบ้านจะทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ซึ่งถือเป็นสิริมงคลกับตนเองถ้ารับประทาน การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยความสามัคคีจากชาวบ้านจึงจะสำเร็จลงได้ การที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการบูชา และรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


ประเพณีกวนข้าวทิพย์มีที่มาจากครั้นสมัยพุทธกาล โดยนางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วนำไปถวายพระโคตมพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ 1 วัน ประเพณีกวนข้าวทิพย์เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถูกยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ปัจจุบันนิยมทำกันในทุกภาคของประเทศไทย โดยในภาคกลางนิยมจัดทำกันในวันวิสาขบูชา แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมกระทำกันในวันก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน
ในแต่ละท้องที่ของภูมิภาค มีพิธีในการกวนข้าวทิพย์คล้ายคลึงกัน โดยสามารถสรุปได้ว่า เริ่มแรกจะมีการจัดโต๊ะหมู่บูชา บริเวณที่จะกวนข้าวทิพย์อาจจะทำเป็นปะรำพิธี โดยโยงด้านสายสิญจน์จากพระพุทธรูปมายังปะรำพิธี ซึ่งโยงด้ายสายสิญจน์เป็นสี่เหลี่ยม วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการกวนข้าวทิพย์ที่ชาวบ้านนำมารวมเตรียมไว้จะประกอบด้วยน้ำนมข้าว, ถั่วทุกชนิด และพืชหรือผลผลิตจากพืชทุกชนิดที่ใช้ทำขนมได้ นำมากวนรวมกันเป็นข้าวทิพย์ กวนโดยพรหมจารี ระหว่างกวน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเสร็จแล้ว นำไปถวายพระสงฆ์ และให้ประชาชนรับประทานข้าวทิพย์กัน