เฮฮาตามประชาชาวบ้านแข่งขันปลอกยุมโหนด กองเชียร์ส่งเสียงเชียร์และออกลีลาการเชียร์ได้อย่างสุดเหวี่ยง เพราะมีคะแนนให้กองเชียร์ด้วย ส่วนผู้แข่งขันไม่สนุกด้วยเพราะตั้งหน้าตั้งตาปอกยุมโหนด ให้เร็วและให้มากที่สุด ที่สนุกสนานส่งเสียงและออกลีลาเต้น ก็คือ กองเชียร์!!
สีสัน..การแข่งขันปอกยุมโหนด งานวันลูกโหนดและของดีสทิงพระครั้งที่ 34 ปี 2566 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2566 ของชาวอ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับผู้ที่มาเที่ยวงาน สำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ โดยนายนราศักดิ์ ชุมแก้ว เกษตรอำเภอสทิงพระ จัดแข่งขันปอกยุมโหนด โดยกองเชียร์สามารถส่งเสียงเชียร์และออกลีลาการเชียร์ได้อย่างสุดเหวี่ยง เพราะมีคะแนนให้กองเชียร์ด้วย โดยมีกติกาให้เวลาปอกยุมโหนด 3 เพลง ผู้แข่งขันต้องเตรียมอุปกรณ์การปอกมาเอง ทั้งช้อน, กะละมัง โดยทำการปอกยุมโหนดที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้จำนวน 1 ถุง เมื่อหมดให้วิ่งไปหยิบลูกโหนดที่วางไว้ด้านหน้าโดยหยิบได้แค่ครั้งละ 1 ถุงมาทำการปอกต่อ จนจบเพลง 3 เพลง กองเชียร์สามารถส่งเสียงเชียร์และออกลีลาการเชียได้บริเวณด้านนอกที่กั้นไว้จนจบ 3 เพลง
การให้คะแนนปอกเปลือกหมด 20 คะแนน ปอกสะอาดไม่มีเศษเปลือกสีขาวติดที่ยุมโหนด, ความสะอาดของสถานที่ปอก 20 คะแนนไม่มีเศษเปลือกยุมโหนดหรือน้ำตามพื้น, น้ำหนัก 40 คะแนน น้ำหนักยุมโหนดที่ปอกเปลือกได้ 1 ขีด นับเป็น 1 คะแนน หากผู้เข้าแข่งขันปอกได้ตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป ได้คะแนนในส่วนนี้เต็ม 40 คะแนน สำหรับกองเชียร์ 20 คะแนน การมีส่วนร่วมของชุมชน วัดจากเสียงเชียร์และการออกลีลาเชียร์ประกอบเพลง
โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นตัวแทนชาวบ้านตำบลละ 1คน จาก 11 ตำบลของอำเภอสทิงพระ จำนวน 11 คน ซึ่งจะเป็นผู้หญิงทั้งหมดและสูงวัย เข้าร่วมแข่งขันปอกยุมโหนด โดยกองเชียร์ส่งเสียงเชียร์และออกลีลาการเชียร์ได้อย่างสุดเหวี่ยง เพราะมีคะแนนให้กองเชียร์ด้วย ส่วนผู้แข่งขันไม่สนุกด้วยเพราะตั้งหน้าตั้งตาปอกยุมโหนด ให้เร็วและให้มากที่สุด ที่สนุกสนานส่งเสียงเชียร์และออกลีลาเต้น ก็คือ กองเชียร์!!
นายนราศักดิ์ ชุมแก้ว เกษตรอำเภอสทิงพระ กล่าวว่า สำหรับวันนี้เป็นการแข่งขันการปลอกยุมโหนด ซึ่งเป็นผลไม้ของงานในครั้งนี้ เป็นผลไม้ที่สามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าให้กับชาวอำเภอสทิงพระได้เป็นอย่างดี ในวันนี้เรานำผลตาลโตนดที่ปลอกออกมาแล้วในเบื้องต้น ให้เหลือเป็นยุมและให้ผู้เข้าแข่งขันมาแข่งขันการปลอกกัน โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นตัวแทนของตำบลใน 11 ตำบลของอำเภอสทิงพระ ตำบลละ 1คน ในการแข่งขันก็จะตั้งยุมโหนดไว้ 1 ถุง ก็ประมาณ 9-10 ผลผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการปลอกโดยกำหนดไว้ให้ปลอกให้เสร็จภายใน 3 เพลง เมื่อเสร็จแล้ว กรรมการก็จะตรวจในเรื่องความสะอาด น้ำหนักและความถูกต้องทั้งหมดนอกจากนี้ ก็จะให้กองเชียร์ของแต่ละคน ในการมีส่วนร่วมโดยการเชียร์ นอกเหนือ จากการแข่งขันรางวัล 1, 2 ,3 แล้ว ก็ยังสร้างความรัก ความสามัคคี โดยเฉพาะเอาตาลโหนด ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ ของอำเภอสทิงพระ มาสร้างความรัก ความสามัคคี ของแต่ละคน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างชุมชนกับส่วนราชการในพื้นที่อีกด้วย
พี่เสือ นักข่าวสงขลา