ปทุมธานีครบรอบวันสถาปนาพกฉ.14 ปีขับเคลื่อนงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียงต่อยอดสู่ตลาดชุมชน
วันที่ 17 มิ.ย. 2566 เนื่องในวันศุกร์ ที่ 23 มิถุนายน 2566 เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) หรือ พกฉ. ครบรอบ 14 ปี พิพิธภัณฑ์แห่งการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ด้านการเกษตร ศูนย์กลางแห่งการขับเคลื่อน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคม พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “การดำเนินงานตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา หัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือการจัดตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นตลาดแห่งมิตรภาพ การแบ่งปันองค์ความรู้และจุดประกายความคิด โดยมีฟันเฟืองที่สำคัญคือพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้งานสำเร็จ เหล่าบุคคลผู้น้อมนำหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตจริงจนสำเร็จ ผลิดอก ออกผลจนเห็นเป็นรูปธรรม เกิดเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนวิถีเกษตร พันธุกรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ตลอดจนถึงเผยแพร่ขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคการเกษตรให้กับประชาชนผู้ที่สนใจ โดยมีพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ยังเป็นพื้นที่แห่งการทดลองจำหน่าย สำหรับเกษตรกรในการสวมบทบาทเป็นพ่อค้า – แม่ค้า นำผลผลิตจากสวน ผลิตภัณฑ์จากแปลง ไปสู่ผู้บริโภค เริ่มจากการรู้จักให้ สู่การรู้จักขาย สร้างรายได้เลี้ยงตน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่าการเกษตรเลี้ยงตนได้อย่างภาคภูมิ มั่นคง และยั่งยืน”
จากตลาดเศรษฐกิจพอเพียง สู่ 4 ตลาดชุมชนต้นแบบ โดยพลังของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯฝึกฝนจนชำนาญ กลับสู่การพัฒนาบ้านเกิดเริ่มที่ ตลาดซาวไฮ่ จ.อุทัยธานี ตั้งอยู่ในสวนของพี่ราเมศวร์ เลขยัน เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.อุทัยธานี ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาคกลาง “กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี” ตลาดแห่งความสำเร็จของการผนึกกำลังจากพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ทั้งจากกาญจนบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ที่ร่วมกันระดมความคิด ถอดต้นแบบการบริหารจัดการพื้นที่ของตลาดเศรษฐกิจพอเพียง สู่ตลาดที่มีทั้งสินค้าเกษตร ดนตรี ศิลปะ องค์ความรู้ และธรรมชาติ มาเที่ยวที่ตลาดซาวไฮ่ จะได้สัมผัสวิถีชาวบ้านอย่างแท้จริง ผักสวนครัว ผลไม้ตามฤดูกาล ของป่าจากพี่น้องชนเผ่า ลาน Work shop อบรมให้ความรู้จากพ่อค้า แม่ค้าที่มากประสบการณ์ รวมถึงเวทีสร้างโอกาส ให้เด็กในชุมชนมาแสดงศิลปะ ดนตรีและความสามารถ จากร้านเพิงริมถนน สู่ตลาดในสวนแสนร่มเย็นแลนด์มาร์กของอำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่เปิดให้บริการทุกวันเสาร์ – อาทิตย์
ถัดมาขอขึ้นเหนือไปแอ๋วเมืองแพร่ “กาดขี้เมี่ยง” ที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดแพร่ “วัดนาตุ้ม” โดยมีผู้ใหญ่จืด เสกสรร ภุมกา เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.แพร่ หัวเรี่ยว หัวแรงสำคัญในการสร้างตลาดสุขภาพ ร่วมกับคนในชุมชน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พื้นที่หน้าวัดใต้ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ศูนย์รวมใจของพี่น้อง บ้านนาตุ้ม จัดตลาดสุขภาพทุกวันพุธ ระดม ปู่ ย่า ตา ยาย ลุกขึ้นมาร่วมกันออกกำลังกาย แช่มือ แช่เท้า ด้วยน้ำสมุนไพร พร้อมด้วยพืช ผัก ผลผลิตของเด็กๆจากโรงเรียนนำมาจำหน่าย ตลาดแห่งนี้ถูกบรรจุ อยู่ในโปรแกรมเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัด เริ่มจากการอุดหนุนสินค้าจากเกษตรกร ตัวน้อย ตามด้วยการนั่งรถซาเล้งไปชมเตาหลอมเหล็ก และตีระฆังระเบิดในวัด จบทริปด้วยการเยี่ยมชมหอศาสตราแสนเมืองฮอม เป็นแหล่งรวบรวมอาวุธโบราณ เครื่องราง ของขลัง และศิลปะการต่อสู้โบราณ อีกหนึ่งตลาดที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือตลาดปันรักษ์ขุนเลย ที่ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดเลย “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง” โดยกำนันแสวง ดาปะ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.เลย ทุกวันอาทิตย์ เป็นการนัดพบกันของเหล่าเกษตรกร ชาวบ้านผู้มีใจรักในวิถีเกษตรมารวมตัวกันนำผลผลิตจากรั้ว จากสวนมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน ที่มาเที่ยวชมภูป่าเปาะ หรือภูเขาฟูจิเมืองเลย ให้ได้แวะเวียนมาช้อปสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเยี่ยมชมเส้นทางผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายเมืองเลย อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
ทางด้านตลาดน้องใหม่ เพิ่งครบ 1 ปีไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นั่นคือ ตลาดในสวน@อเร็งญา ณ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดขอนแก่น “สวนอเร็งญา” โดยพี่เล็ก สุรสิทธิ์ บุบผา เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ขอนแก่น ตลาดที่เห็นถึงการรวมพลังของพี่น้องเครือข่ายในภาคอีสานทั้งจากจังหวัดเลย ชัยภูมิ มุกดาหาร และนครราชสีมา เพื่อผลักดันตลาดน้องใหม่ให้เป็นตลาดในสวนของคนในชุมชน เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ที่ 3 ของเดือน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านการเกษตร การตลาด การขาย ให้กับพ่อค้า – แม่ค้าหน้าใหม่ ให้ขายได้ ตั้งราคาเป็น และกิจกรรมดนตรีในสวน สร้างบรรยากาศให้ครื้นเครงเพื่อพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวและการเรียนรู้ด้านการเกษตรในอนาคตตลาดชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถือเป็นก้าวสำคัญของพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เกษตรฯ ที่ต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตนได้เรียนรู้ ทดลอง และลงมือทำจนสำเร็จให้เกิดเป็นแบบอย่างกับคนในชุมชน และคนรุ่นใหม่ ได้เห็นถึงโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน อีกทั้งเป็นการปลูกฝังค่านิยม และทัศนคติที่ดีให้กับลูกหลานได้ เห็นถึงความสำคัญของการเกษตร การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน และประเทศชาติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เราทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ทุกสถานการณ์ตามวิถีชีวิตของตนเอง
ปัจจุบัน พกฉ. มีการเปิดศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ทั่วประเทศ รวมแล้ว 82 แห่ง และในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าหมายจะเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ เพิ่มอีก 6 แห่ง เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าไปศึกษา หาความรู้ ปรึกษาปัญหาด้านการเกษตรภายใต้ภูมิสังคมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังสร้างผู้สืบทอด เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สามารถนำองค์ความรู้ วิถีเกษตรไทย ผนวก กับเทคโนโลยี และนวัตกรรมภาคการเกษตรไปต่อยอด และพัฒนาเป็นการเกษตรแบบยั่งยืนต่อไป พลอากาศเอก เสนาะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปีที่ 14 ของพกฉ. เราตั้งใจและทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการปฏิบัติงาน ทำคุณงามความดี จุดประกายในการรักชาติ รักแผ่นดิน รักสถาบันพระมหากษัตริย์และมุ่งมั่นการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธาน ด้านการเกษตร เพื่อก้าวสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นนำแห่งการเรียนรู้ พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของกษัตริย์เกษตรและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศในอนาคต”
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดให้บริการทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดให้บริการในวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ