ข่าวทั่วไป

จันทบุรี – นักศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยนาฎศิลป์จันทบุรี ทำพิธีรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมืองเพนียด เพื่อเตรียมทำวิทยานิพนธ์การแสดงแสง สี เสียงเรื่อง พระนางกาไว เมืองเพนียด 9 ก.ค.ขณะที่จังหวัดเตรียมจัดงานย้อนประวัติศาสตร์เมืองเพนียด 25-27 ส.ค.

จันทบุรี – นักศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยนาฎศิลป์จันทบุรี ทำพิธีรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมืองเพนียด เพื่อเตรียมทำวิทยานิพนธ์การแสดงแสง สี เสียงเรื่อง พระนางกาไว เมืองเพนียด 9 ก.ค.ขณะที่จังหวัดเตรียมจัดงานย้อนประวัติศาสตร์เมืองเพนียด 25-27 ส.ค.

เช้าวันนี้ ( 1 ก.ค.66) ที่เมืองเพนียด ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี นายเจษฏาภรณ์ เอี่ยมอุไร นักศึกษาปริญญาเอก คณะศิลปนาฎศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ ควบคุมและกำกับการแสดงเรื่องประวัติศาสตร์พระนางกาไว เมืองเพนียดพร้อมด้วยนางสาวอรวรรณ คามวัน กัลยาณมิตรผู้ให้การสนับสนุน ได้จัดพิธี
พิธีรำบวงสรวงพระนางกาไว เมืองเพนียด และสิ่งศักดิ์สิทธ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลเตรียมการแสดง เรื่องพระนางกาไว เมืองเพนียด ในวันที่ 9 กรกฏาคม 2566 ที่หอประชุมวิทยาลัยนาฏศิลป์ จันทบุรี นอกจากนี้ ทางคณะได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนของโรงเรียนวัดทองทั่ว จำนวน 15 ทุน และมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลป์จันทบุรี จำนวน10 ทุน ซึ่งภายหลังพิธีรำบวงสรวงแล้วเสร็จฝนก็ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี นางมานัสศรี ตันไล วัฒนธรรมจังหวัดกล่าวว่าทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนก็ได้มีการเตรียมการจัดแสดง แสง สี เสียง เพื่อส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ และประชาสัมพันธ์ประวัติศาสตร์เมืองเพนียดที่มีในพื้นที่นี้มากว่า 1,000 ปีโดยจะจัดงานในรูปแบบย้อนประวัติศาสตร์ส่งเสริมประเพฯี วัฒนธรรมระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566
สำหรับเมืองเพนียดเป็นชุมชนโบราณ ที่พบหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ที่สำคัญจากจารึกภาษาขอม อายุราว พ.ศ. 800-1000 ได้กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งโบราณสถานเพนียดนั้น เดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรีในยุคแรก ซึ่งอารยธรรมขอมมีบทบาทและแผ่ขยายความเจริญในภูมิภาคนี้ โดยมีเจ้าผู้ครองนครทำการปกครองอย่างเป็นอิสระ ได้มีการติดต่อกับอินเดียและรับเอาวัฒนธรรมของอินเดียเข้ามาใช้ในวิถีชีวิต เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเรือสำเภาผ่านไปมาค้าขายกับจีน และอินเดีย ดังนั้นชาวพื้นเมืองก็คือชาวชองและชาวขอม ลักษณะทั่วไป สภาพพื้นที่เป็นที่ลาดเทไปสู่ที่ราบลุ่มต่ำริมลำน้ำจันทบุรี

โดยมีลำน้ำคลองนารายณ์ และคลองสระบาป ไหลลงมาจากเขาสระบาป ลงไปเชื่อมกับแม่น้ำจันทบุรี เส้นทางน้ำเหล่านี้คงจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีตอีกทั้งยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมอย่างมากในการตั้งชุมชนซึ่งน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ สันนิษฐานจากขนาดของเมืองโบราณ และปริมาณวัตถุที่พบจำนวนมาก และหลายยุคสมัย โบราณสถานเมืองเพนียดมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 2,000 เมตร แนวกำแพงเมืองโบราณและคูน้ำเกือบทั้งหมดในปัจจุบันถูกเกลี่ยลงจนไม่สามารถสังเกตได้ เท่าที่หลงเหลืออยู่ เป็นแนวคันดินด้านทิศใต้ของเมือง มีความสูงราว 3เมตร มีความยาวราว 50 เมตร ส่วนแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือเดิมถูกถนนสุขุมวิทตัดผ่านบางส่วน พื้นที่ภายในเมืองโบราณปัจจุบันเป็นบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยด้านทิศตะวันออกของเมืองพื้นที่ส่วนใหญ่มีการขุดยกร่องเพื่อทำสวนผลไม้ ส่วนที่ลุ่มบริเวณด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ทำนา โดยถัดจากแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกออกมาจะเป็นที่ลุ่มต่ำมากเช่นบริเวณบ้านศาลาแดง ในหน้าน้ำ จะมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง

 

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์รวมข่าวภาคตะวันออก