พะเยา – 1ใน 4 ของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกของภาคเหนือและเก่าแก่ที่สุดของเชียงราย-พะเยา
ชมคลิป
https://youtu.be/xcmHL0qRDI4
“โรงเรียนบ้านหย่วน เชียงคำนาคโรวาท”
วันนี้ ( 15 ตุลาคม 2563 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการศึกษาค้นคว้าของ อ.พิทยา วงศ์ใหญ่ ปราชญ์ท้องถิ่น และศิษย์เก่าของ ร.ร.บ้านหย่วน เชียงคำนาคโรวาท พบว่า โรงเรียนบ้านหย่วนฯ เป็นโรงเรียนระดับมูลศึกษา หรือประถมศึกษา ( ผู้เรียนจะมีห้วงอายุ 5-7 ขวบ ) แห่งแรกระดับประถมศึกษาของ จ.เชียงรายซึ่งในสมัยนั้น จ.พะเยา เป็นเพียงอำเภอหนึ่งของเชียงราย และเป็น 1ใน 4 ของโรงเรียนประถมศึกษาที่มีอายุมากที่สุดในภาคเหนือ คือมีอายุ 116 ปี




นายวิชัย ศรีจันทร์ อดีตผู้อำนวยการ ร.ร.บ้านหย่วน เชียงคำนาคโรวาท เปิดเผยว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2441 ได้มีการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปทั่วราชอาณาจักร โดยใน พ.ศ. 2447 หรือเมื่อ 116 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนนี้ได้ถูกสร้างขึ้น ซึ่ง พระชยานันทมุนี ได้จัดตั้งโรงเรียนหนังสือไทยเพิ่มขึ้นพร้อมๆกัน 4 แห่ง คือ 1. โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นมูล ที่วัดช้างค้ำ 2.โรงเรียนมูลศึกษาเมืองสา 3.โรงเรียนมูลศึกษาเวียงเหนือ และ 4. โรงเรียนมูลศึกษาเชียงคำ ซึ่งขึ้นตรงกับการศึกษาน่านเหนือ ซึ่งปัจจุบันก็คือ โรงเรียนบ้านหย่วน เชียงคำนาคโรวาท ซึ่งเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี 2447 เรื่อยมาจนปัจจุบัน
เดิมชื่อโรงเรียน “มูลศึกษาเชียงคำ” เปลี่ยนมาเป็น “โรงเรียนประจำอำเภอเชียงคำ” จากนั้น ได้รับพระราชทานชื่อ จากจอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ( พระโอรสในรัชกาลที่ 5 ) เป็น “โรงเรียนเชียงคำนาคโรวาท” และต่อมาในพ.ศ. 2495 จึงมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านหย่วน เชียงคำนาคโรวาท” และใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน





สำหรับอาคารเรียนประวัติศาสตร์หลังนี้ ได้ใช้ไม้ที่รื้อจากพลับพลารับเสด็จของ จอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ( พระโอรสในรัชกาลที่ 5 ) โดยนำมาปลูกสร้างรวมกับไม้จากป่าไม้เชียงรายบางส่วนจนสำเร็จดังอาคารที่เห็น ปัจจุบันอาคารเรียนหลังเก่ายังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี โดยมีการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงคำ มีเอกสาร หนังสือเรียน ปฏิทิน ภาพสมัยสงครามโลกตลอดจนภาพ เครื่องมือเครื่องใช้ของคนเชียงคำเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา และมีโรงภาพยนตร์เพื่อถ่ายถอด บอกเล่า เรื่องศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีและรากเหง้าของคนเชียงคำ เพื่อให้ลูกหลานในอนาคตได้ศึกษาเรียนรู้ ภาคภูมิใจในความเป็นคนเชียงคำและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นต่อไป
(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )



