ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

พะเยา – อลังการ!7จังหวัดภาคเหนือร่วมเทศกาลโฮ่มฮีตโตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ

พะเยา อลังการ!7จังหวัดภาคเหนือร่วมเทศกาลโฮ่มฮีตโตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ

วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาล “ไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 17 จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการจัดงาน เครือข่ายทางวัฒนธรรม สมาคมไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน ณ วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมกันอย่างมากมาย

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา บูรณาการความร่วมมือกับชุมชนไทลื้อ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ และหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายทางวัฒนธรรม และสถานศึกษา จัดงานเทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2566 ณ วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เพื่อยกระดับเทศกาลไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ร่วมกันสืบสาน รักษาต่อยอดวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่มีคุณค่าและมูลค่า สามารถนำไปต่อยอดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ขบวนแห่ทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ ขบวนแห่ของหน่วยงานราชการ สถานศึกษา การสาธิตการแห่ครัวตานเข้าวัด การสาธิตประเพณีตานธรรม นิทรรศการมีชีวิต “วิถีวัฒนธรรมไทลื้อ” นิทรรศการผ้าลายดอกสารภี ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพะเยา ผ้าทอชาติพันธุ์ไทลื้อภาคเหนือ การสาธิตทำอาหารไทลื้อ การจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT และ CCPOT การแสดงศิลปวัฒนธรรม การเดินแบบการแต่งกายชุดชาติพันธุ์ และชุดผ้าทอลาย อัตลักษณ์ประจำจังหวัดในภาคเหนือ
สำหรับการจัดเทศกาลดังกล่าว จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2537 ในชื่องานว่า “สืบสานตำนานไทลื้อ” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “งานไทลื้อ” เป็นงานประจำปีของอำเภอเชียงคำ จัดในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แรกของเดือนมีนาคมของแต่ละปี ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยกิจกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของชาวไทลื้ออย่างมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ และมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 นี้ นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 20 อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่งานเทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ เป็นการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F โดยขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณี หรือ Festival สู่ระดับโลก

ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยา มีชาติพันธุ์ไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอภูซาง และอำเภอจุน ชาวไทลื้อส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนา ปัจจุบันอยู่ตอนใต้สุดของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาจากอาณาจักรหอคำ เชียงแขง ปัจจุบันอยู่ในเขตแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว โดยอำเภอเชียงคำ เป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้อมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 17,000 คน ได้รับการขนานนามว่า “เชียงคำ” เป็นเมืองหลวงของชาวไทลื้อในประเทศไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่นของจังหวัดพะเยา คือ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเชียงคำ เป็นการรวมตัวของชาวไทลื้อ 5 หมู่บ้าน ที่มีวิถีชีวิต การแต่งกาย ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการสื่อสารด้วยภาษาไทลื้อ มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ มีเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนไทลื้อเชื่อมโยงกัน 5 หมู่บ้าน มีแหล่งเรียนรู้ เช่น เฮือนไตลื้อบ้านแม่แสงดา ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแสนเมืองมา เฮือนไตลื้อเมืองมาง มีกิจกรรมตลาดวัฒนธรรม และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย

ปัณณวิชญ์ อยู่ดี จ.พะเยา