อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จัดการประชุมหารือการนำเสนออุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน
เช้าวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมหารือการนำเสนออุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ขึ้นเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยมี นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงาน ตลอดทั้งมีคณะกรรมการมรดกอาเซียน นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 นายกวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภาคภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมรับฟังและหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การประชุมหารือเพื่อการนำเสนออุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยกขึ้นเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน สืบเนื่องจากอุทยานแห่งมรดกอาเซียน เป็นผลมาจากการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ร่วมลงนามรับรองปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยเรื่องมรดกอุทยานและการอนุรักษ์ (ASEAN Declaration on Heritage Parks) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 (ค.ศ. 2003) ซึ่งมาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์
กอรปกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity : ACB) ได้กำหนดให้มีการประเมินความเหมาะสมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อประกาศเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ในระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2563 ซึ่งอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้มีความโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ พบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก และที่สำคัญมีเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นไปตามเกณฑ์การนำเสนอเพื่อให้ขึ้นเป็นมรดกแห่งอาเซียน เพื่อเกื้อประโยชน์ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลประกอบเกณฑ์การพิจารณาเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน แก่คณะกรรมการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยทีมวิชาการ และร่วมเสวนาเสนอข้อคิดเห็น ซึ่งเป็นอีกโอกาสหนึ่ง ที่จะได้สร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ถึงผลดีจากการเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยมีหน่วยงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การค้นหาและกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 รวมระยะเวลา 18 วัน ซึ่งประสบผลสำเร็จและทั้ง 13 ชีวิตปลอดภัย หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้จังหวัดเซียงรายมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้อย่างหนาแน่น จากสถิตินักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 1.54 ล้านคน
นอกจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้ว อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยังมีความโดดเด่นหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านธรณีวิทยา ด้วยลักษณะเอกลักษณ์โดดเด่น คือ “ถ้ำหลวง” ที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ด้วยความยาวประมาณ 10.3 กิโลเมตร ความสวยงามจากการเรียงตัวสลับซับซ้อนของภูเขาเป็นรูปผู้หญิงนอน และมี “สระขุนน้ำมรกต” มีน้ำสีเขียวแกมฟ้ามรกต ซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่มีความเชื่อด้านประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยมีชนเผ่าต่าง ๆ และชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่โดยรอบถึง 10 ชาติพันธุ์ ได้แก่ อาข่า ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยวน ไทหยา กะเหรี่ยง ปะหล่อง ละว้า ลาหู่ และคนไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย
เครดิต / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
ทีมตระเวนข่าว ทั่วไทยนิวส์ จ.เชียงราย โทร.0816888600