เจ้เล็ก พร้อม ทีมงาน เปิดโรงทาน ณ วัดบางประกอก เนื่องในวันครบรอบวันมรณภาพหลวงปู่พริ้ง
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น.
คุณ ศิริพร เสถียรพงศ์ พร้อม ทีมงาน ทำบุญเลี้ยงพระ และเปิดโรงทาน ที่วัดบางประกอก ซอย สุขสวัสดิ์ 19 ถนน สุขสวัสดิ์ แขวง บางประกอก เขต ราษฎร์บูรณ ะ กรุงเทพมหานคร เนื่องในวันครบรอบวันมรณภาพ หลวงปู่พริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก โดยบรรยากาศภายในงานวันนี้เต็มไปด้วยประชาชนที่มาร่วมพิธีอย่างมากมาย และภายในงานได้มีการจัดโรงทานให้ประชาชนที่มาร่วมพิธีได้รับประทานกันจนอิ่มท้องเพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน อย่างน้อยก็ยังได้กินอิ่มท้องกันทุกคนแล้วยังเป็นการช่วยประหยัดค่าครองชีพภายในครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชนอีกด้วย
หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมเป็นเลิศ มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค “สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ ๒” และท่านยังเป็นหนึ่งในพระอาจารย์องค์สำคัญของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
สมณศักดิ์สุดท้ายที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามที่ พระครูประศาสน์สิกขกิจ ในปี พ.ศ.๒๔๗๙
ไม่ว่าจะมีพิธีสำคัญที่ใดก็ตามจะต้องมีการนิมนต์หลวงพ่อพริ้งอยู่ด้วยเสมอ เช่น พิธีพุทธาภิเษกเหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร พ.ศ.๒๔๘๕ หรืองานหล่อพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ วัดราชบพิธฯ หลวงพ่อจะได้รับนิมนต์ด้วย
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ในวันที่ท่านมรณภาพนั้นท่านได้ให้ลูกศิษย์ประคองท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วท่านก็ประสานมือในท่าทำสมาธิ ครู่เดียวท่านก็มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุได้ ๗๘ ปี
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลมากมายหลายชนิด ทั้ง พระเครื่อง เหรียญ และเครื่องรางของขลัง อาทิ พระผงใบลาน, ลูกอมเนื้อผง, ตะกรุด, ผ้ายันต์ ฯลฯ เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และผู้มาขอ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงอย่างมากในคราวเกิดสงครามอินโดจีน
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะ เหรียญปั๊มรุ่นแรก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเต็มองค์นั่งเหนืออาสนะฐานสิงห์ สองข้างจารึกอักษรไทยว่า “พระครูวิสุทธิ์ศิลาจารย์ (พริ้ง)” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมณศักดิ์ที่ถูกต้อง คือ พระครูประศาสน์สิกขกิจ ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจผิดของช่างผู้แกะแม่พิมพ์ก็เป็นได้ ส่วนใต้ฐานอาสนะนั่งเป็นปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๘๓” ส่วนพิมพ์ด้านหลัง ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งแสดงปางมารวิชัยเหนืออาสนะฐานบัว ด้านบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” พิมพ์ด้านหลังยังแบ่งออกเป็น ๓ พิมพ์ สังเกตที่พระพักตร์ของพระพุทธรูป คือ พิมพ์หน้าใหญ่เกศเปลวเพลิง พิมพ์หน้ากลางเกศตุ้ม และ พิมพ์หน้าเล็กเกศแหลม พุทธคุณ โดดเด่น ทั้งด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และ เมตตามหานิยม
สำหรับนาม พระครูวิสุทธิ์ศิลาจารย์ ที่ปรากฏในเหรียญของท่าน เป็นนามสมณศักดิ์ หลวงพ่อวงศ์ วัดมะกอก อันมีที่ตั้งอยู่ในเขตและแขวงตลิ่งชัน สาเหตุที่ชื่อบนเหรียญผิดพลาดนั้นอาจมาจาก (วัดมะกอก กับวัดบางประกอก มีชื่อคล้ายกันมาก จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสลับชื่อกัน เมื่อมีคนไปสั่งทำเหรียญ คนแกะเหรียญอาจจะดูในทำเนียบ และอาจจะสำคัญผิดว่าเป็นพระเถระรูปเดียวกัน) จัดเป็นเหรียญดีที่ ค่อนข้างจะหายากแล้วในปัจจุบัน
และเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาของวันเดียวกันนี้ คุณ ศิริพร เสถียรพงศ์ พร้อมทีมงาน จิตอาสาเจ้เล็ก ร่วมกับมูลนิธิวินวิน ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วย และ ผู้พิการตั้งแต่กำเนิด ภายใน ชุมชนหลังวัดกลางนา ซอย ประชาอุทิศ 27 ถนน ประชาอุทิศ แขวง บางมด เขต ทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ป่วย ที่ผ่านการผ่าตัดฟอกไต แล้วยังต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อยู่ โดยที่แพทย์ได้ให้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านแล้วต้องเดินทางไปพบแพทย์ตามเวลานัดหมาย ซึ่งในขณะที่ไปเยี่ยมดูอาการในวันนี้พบว่ามีอาการที่ดีขึ้นแต่ยังเดินเองไม่ค่อยจะได้ต้องใช้รถวีลแชร์เข็นออกจากบ้านพักแล้วเส้นทางในการที่จะต้องเข็นรถวีลแชร์ไปนั้นจะเป็นเส้นทางปูนเล็กๆที่รถยนต์ไม่สามารถจะเข้าถึงหน้าบ้านพักได้เป็นระยะทางเดินถึง 200 เมตร แล้วจะต้องมาขึ้นรถแท็กซี่ ตรงบริเวณปากซอยเพื่อไปพบแพทย์ ตามเวลานัดหมาย แต่ติดปัญหาตรงที่ว่าในขณะนี้ล้อรถวีลแชร์ดังกล่าวชำรุดเสียหายจึงไม่สามารถใช้งานต่อได้แล้ว ตรงนี้ทางทีมงานจิตอาสาเจ้เล็ก และทางมูลนิธิวินวินได้รับเรื่องเอาไว้แล้ว และพร้อมที่จะรับดำเนินการให้โดยเร็วที่สุดอย่างแน่นอน
โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว กทม.