ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวตรวจเยี่ยม

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะตรวจความพร้อมการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี บรรเทาความแออัดของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี


ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ติดตั้งระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งนี้ ทอท. จะเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ควบคู่ไปกับอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดความหนาแน่นบริเวณพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารหลัก ให้มีขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยให้ความสำคัญการให้บริการ (Level of Service) เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก และความปลอดภัย รวมทั้งความประทับใจในการใช้บริการ โดยมีแผนเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 แบบ Soft Opening ภายในเดือนกันยายน 2566
อาคาร SAT-1 เป็นอาคารที่อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (Airside) เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน ด้วยอุโมงคค์ใต้ดิน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้า APM ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อยางแบบไร้คนขับในการรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งใช้ระยะเวลาในการโดยสารรวมถึงระยะเวลาที่ผู้โดยสารรอบริการที่สถานีประมาณ 3 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 210 คนต่อขบวน
อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ได้แก่ ชั้น B2 เป็นพื้นที่สำหรับสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover Station: APM Station) ชั้น B1 เป็นพื้นที่ห้องงานระบบ ชั้น G เป็นพื้นที่สำหรับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ และพื้นที่สำนักงาน ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า รวมทั้งพื้นที่สำหรับผู้โดยสารเชื่อมต้อเที่ยวบิน ชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก มีพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง เป็นแบบ Open Gate และมี พื้นที่ร้านค้าตลอดแนวทางเดิน ชั้น 4 เป็นพื้นที่ห้องรับรองสายการบิน นอกจากนี้ อาคาร SAT-1 มีหลุมจอดอากาศยานประชิดอาคาร 28 หลุมจอด โดยสามารถจอดอากาศยานขนาด Code F (เช่น A380 และ B747-8 เป็นต้น) จำนวน 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด Code E (เช่น B747 และ A340 เป็นต้น) จำนวน 20 หลุมจอด และมีระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าขาออก ที่มีความสามารถในการขนส่งกระเป๋าสัมภาระสูงสุดจากอาคารผู้โดยสารหลักถึงอาคาร SAT-1 จำนวน 180 ใบต่อนาที

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่พาณิชย์ พื้นที่ให้บริการทางการแพทย์ และพื้นที่ห้องรับรองรับสายการบิน ประกอบด้วย สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส และสายการบินเอมิเรตส์ สำหรับการออกแบบตกแต่งภายในอาคาร มีการออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลักและผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย และคำนึงถึงการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) เพื่อให้อาคารประหยัดพลังงาน เน้นการใช้แสงจากธรรมชาติ ลดการเปิดไฟ ติดอุปกรณ์กันความร้อน ติดตั้งระบบนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งการใช้งานอย่างเท่าเทียมด้วยการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะได้ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ73 โดยดำเนินการก่อสร้างด้านทิศตะวันตก ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความยาว 4,000 เมตร โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 และเปิดให้บริการภายในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 90 ล้านคนต่อปี
การเปิดใช้งานอาคาร SAT-1 และการก่อสร้างรันเวย์ เส้นที่ 3 และโครงการอื่น ๆ ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศแล้ว ยังเป็นการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินของประเทศในอนาคตทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสามารถรองรับนักเดินทางจากทั่วโลก