ข่าวทั่วไป

คปภ. สร้างเกราะคุ้มกัน ไม่เป็นเหยื่อฉ้อฉลการประกันภัย คปภ. ยกระดับภูมิคุ้มกันความเสี่ยงผู้ประกอบการ SMEs ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี

คปภ. สร้างเกราะคุ้มกัน ไม่เป็นเหยื่อฉ้อฉลการประกันภัย
คปภ. ยกระดับภูมิคุ้มกันความเสี่ยงผู้ประกอบการ SMEs ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี
สร้างเกราะให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจและใช้ประโยชน์จากประกันภัย ไม่เป็นเหยื่อฉ้อฉลประกันภัย
วันนี้ (31 ส.ค.66)​ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้จัดกิจกรรมสัมมนาและการบรรยาย ภายใต้โครงการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกันภัย และการฉ้อฉลประกันภัย แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และประชาชนเชิงรุก ในชื่อ “Let’s Journey to Protection ปฏิบัติการ OIC HERO: เปิดกลยุทธ์โดโด้ไม่ล้ม ปราบฉ้อฉลไม่เป็นเหยื่อ” ณ โรงแรมโนโวเทลมารีนา ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี


โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีนายนิติ วิวัฒนวานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวการต้อนรับ
กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นโดยสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดย นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสาย กฎหมายและคดี ได้กล่าววัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยเชิงรุก ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อม หรือผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ความคุ้มครอง ตลอดจนข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบุคคลหรือธุรกิจของตนเอง พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ให้แก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัย
ขณะที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวว่าผู้ประกอบการ SMEsในทุกประเภทธุรกิจต่างมีความเสี่ยงที่หลากหลายและแตกต่างกันไป ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัยจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้ใช้ในการรองรับความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อ่อนไหว “และแม้ธุรกิจในขณะนี้จะมีการฟื้นตัว แต่เนื่องจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สายป่านทางธุรกิจไม่ยาว ดังนั้นหากไม่บริหารความเสี่ยงให้ดีแล้ว เกิดภัยขึ้นมาก็จะเกิดผลกระทบได้อย่างมาก”
เลขาธิการ คปภ.ยังเผยถึงพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัยในปัจจุบัน ที่ประชาชนต้องระวังเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อว่า มี 2 ประเภทคือ กรณีที่มีการบอกว่าจะมีการทำประกันภัยให้แล้วหลอกเอาเงินไป โดยไม่ได้ดำเนินการให้เกิดสัญญาประกันภัย ซึ่งเกิดได้จากทั้งบุคคลที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย และที่มีการเอาเบี้ยประกันภัยที่ประชาชนจ่ายมา นำไปใช้เองไม่ได้นำส่งบริษัท ตลอดจนคนที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ที่ตั้งใจจะมาหลอกเอาเงินของประชาชน
และกรณี การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต หรือใช้เอกสารหลักฐานเท็จในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือเคลม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตัวเองไม่มีสิทธิได้ หรือมีการปลอมแปลงเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นขอเคลม เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบรับรองความเสียหายต่าง ๆ
ขณะที่ SMEs ควรมีการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ ด้วยการโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัย โดยอาจพิจารณาว่าหากเกิดความเสียหายที่ไม่คาดคิดโดยฉับพลัน เช่น อัคคีภัย ระเบิด จะได้มีเงินทุนเพียงพอที่จะซ่อมแซมหรือสร้างโรงงานหรืออาคารใหม่ได้ เพื่อจะได้รับความคุ้มครองเยียวยาความเสียหาย จนสามารถกลับมาประกอบธุรกิจและสร้างความเติบโตของธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
โดยภายในงาน มีการให้ความรู้ในหัวข้อ “การประกันภัยสำหรับธุรกิจ SMEs” ที่เกี่ยวกับหลักการ ประกันภัย ประเภทการประกันภัยที่จำเป็นต่อธุรกิจ การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจด้วยการประกันภัย หลักการที่จำเป็นในการพิจารณาทำประกันภัย รวมถึงกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้ในหัวข้อ “การฉ้อฉลประกันภัย” ที่เกี่ยวกับรูปแบบการฉ้อฉล ประกันภัยซึ่งมีความหลากหลาย เช่น การฉ้อฉลทางอิเล็กทรอนิกส์ การชักชวนให้กระทำความผิด การหลอกหลวงที่มาในรูปแบบการประกันภัย ฯลฯ ทั้งจากตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย ผู้ประเมินวินาศภัย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ระบบธุรกิจประกันภัย เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง
โดยมีผู้ประกอบการและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิต และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัย เป็นต้น

 

ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์รวมข่าวภาคตะวันออก