ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

น้องไปร์ท สุนัขเพศเมียปกป้องบ้านจากงูเห่า

น้องไปร์ท สุนัขเพศเมียปกป้องบ้านจากงูเห่า

วันที่ 15 กันยานย 2566 เวลา 18.00 น.

ศูนย์วิทยุกู้ชีพบูรณะ ( โรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ) รับแจ้งมีเหตุสัตว์เลื้อยคลานประเภทงูเข้าบ้านเรือนประชาชน ภายในซอยพุทธบูชา 36 จึงประสานอาสาสมัครที่เฝ้าฟังภายในข่ายให้เร่งรัดจัดอุปกรณ์ตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างเร่งด่วนทันที

เมื่ออาสาสมัครกู้ชีพบูรณะมาถึงที่เกิดเหตุพบเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในบ้านเลขที่ 13 ซอย พุทธบูชา 36 ถนน พุทธบูชา แขวง บางมด เขต ทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ที่เกิดเหตุเป็นลักษณะบ้านปูน 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด บริเวณหน้าบ้านดังกล่าวพบสุนัขเพศ เมียพันธุ์ทาง อายุประมาณ 1 ปี สีขาวน้ำตาล ชื่อน้อง ไปร์ท กำลังใจจดใจจ่อยืนเฝ้างูเห่าขนาดใหญ่อย่างไม่ยอมละสายตาตรงบริเวณโคนต้นมะม่วงริมรั้วบ้าน ส่งเสียงเห่าเสียงดังสนั่นเพื่อเป็นการข่มขวัญเจ้างูเห่าตัวดังกล่าว แต่ทว่างูเห่าก็ไม่ย่อท้อพยายามชูคอแผ่แม่เบี้ยพร้อมส่งเสียงขู่คำรามเสียงดังเพื่อเป็นการข่มขวัญน้องไปร์ท ( สุนัข ) กลับเช่นเดียวกัน ระหว่างการกดดันของทั้งสองฝ่ายจะปะทุขึ้นแบบดุเดือด อาสาสมัคร จึงรีบจัดเตรียมอุปกรณ์ และลงมือจับงูเห่าตัวดังกล่าวโดยไว ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ 1.50 เมตร แล้วนำใส่กระสอบเพื่อไปส่งมอบต่อให้สถานีดับเพลิงราษฎร์บูรณะ เก็บรวมรวมเอาไว้เพื่อนำไปปล่อยป่าคืนสู่ธรรมชาติที่ห่างไกลบ้านเรือนประชาชนต่อไป

และจากการสอบถามจาก ยายอ๋อย วารี อวมกลิ่น อายุ 68 ปี บอกว่า
ได้ยินหมามันกวดกัน แล้วมันขู่ฟ่อๆ แต่ไม่เห็นหรอกว่าหัวหางทางไหน ยายก็เอายาฉีดใส่เลย กลัวมันเข้าบ้านเพราะยายอยู่กับหลานกัน 2 คน แล้วยายก็โทรให้ลูกชายแจ้ง ลูกชายบอกเดี๋ยวโทรบอกเพื่อนเค้า งูอะไรไม่รู้ ยายก็ไม่เห็นหรอก ยายกลัว เมื่อวานก็มานะ รอบนึงพอบอกลูกชายกลับมามันก็ไปแล้ว เมื่อก่อนก็เข้ามาเป็นเหลือมหรือหลามไม่รู้ อยู่ตรงกำแพง แล้วมันก็ไป

ส่วนทางด้าน นาย สำราญ สวัสดี อาสาสมัครกู้ชีพบูรณะ กล่าวว่า งูเห่าตัวดังกล่าวมีความยาวประมาณ 1.20 เมตร ซึ่งตนได้รับแจ้งจากทางศูนย์วิทยุกู้ชีพบูรณะให้มาทำการจับออกจากบ้านเรือนประชาชนตามการร้องขอความช่วยเหลือของเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว ตอนที่ตนเข้ามาก็พบว่ามีสุนัขกำลังเห่าและยืนคุมเชิงอยู่ก่อนแล้ว

เบื้องต้นคาดว่าการที่งูเห่าตัวดังกล่าวบุกรุกเข้ามาภายในพื้นที่เขตบ้านเรือนประชาชนน่าจะเกิดจากการที่ช่วงนี้มีฝนตกอยู่บ่อยๆในพื้นที่และอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังที่อยู่อาศัยของงูชนิดต่างๆก็เลยเป็นเหตุให้งูอาจจะหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยก็เป็นได้และอาจจะบังเอิญเลื้อยเข้ามาภายในพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพื่อหาอาหารประทังชีวิตแต่อย่างไรแล้วสัตว์เลื้อยคลานประเภทงูเห่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษรุนแรงถ้าโดนกัดเข้าก็อาจจะถึงกับเสียชีวิตได้อย่างไรแล้วช่วงนี้ก็ต้องระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลานประเภทงูเข้าบ้านด้วยเพราะอาจจะพบบ่อยขึ้นในช่วงหน้าฝน และถ้าพบเจอสัตว์เลื้อยคลานที่เข้ามาภายในบ้านก็ขอให้แจ้งหน่วยงานอาสาสมัครที่อยู่ภายในพื้นที่ใกล้บ้านทันทีอย่าได้ไปลงมือจับเองเป็นอันขาดเพราะถ้าขาดความชำนาญและทักษะในการจับก็จะทำให้ได้รับอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้

โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว กทม.