ข่าวทั่วไป

ชัยนาท – ปักดำนาข้าวสรรพสีแปลอักษรตามรอยพ่อ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน

ชัยนาท – ปักดำนาข้าวสรรพสีแปลอักษรตามรอยพ่อ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน
วรชล ฟักขาว ภาพ/ข่าว จ.ชัยนาท
วันนี้ 17 ต.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวชไมพร อำไพจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ปักดำข้าวสรรพสี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” จังหวัดชัยนาท เป็นตัวอักษร “ตามรอยพ่อหลวง” ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง หมู่ที่ 3 ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการจังหวัดชัยนาท ประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท ประธานกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีชัยนาท(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ประธานเครือข่ายOTOP จังหวัดชัยนาท ประธานสมาพันธ์SMEไทยจังหวัดชัยนาท ประธานเครือข่ายYoung Smart Farmer ชัยนาท ประธาน Biz Club จังหวัดชัยนาท ประธาน YEC จังหวัดชัยนาท และเครือข่ายโคก หนอง นา ร่วมกิจกรรมปักดำข้าวสรรพสีฯ


โดย นายไตรศักดิ์ ปัทมรัฐจิรนนท์ ประธานศูนย์เรียนรู้ตามรอยพ่อ กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดชัยนาท กับพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยนาท และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ได้จัดโครงการปลูกข้าวสรรพสีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็น 1 ใน 10 แปลงทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจาก ม.เกษตรศาสตร์กำแพงแสน โดยให้ปลูกข้าวสรรพสีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ให้คนมาถ่ายรูปเป็นจุดเช็คอินจังหวัดชัยนาท การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการน้อมนำพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดำเนินการในแปลงนี้จึงใช้อักษรคำว่า “ตามรอยพ่อหลวง” สำหรับแนวคิดในการดำนาแปลอักษร คำว่า ตามรอยพ่อหลวง ก็อยากให้ประชาชนทั่วไปได้ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะว่าเรื่องของการเกษตรหลายๆอย่าง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นผู้คิด เป็นผู้ทำ เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนคนไทยมีกินมีใช้ โดยพื้นที่ภายในศูนย์เรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง ทั้งหมด 36 ไร่ ทำนาข้าวสรรพสี 3 ไร่ครึ่ง ข้าวหอมมะลิแดง 5 ไร่ และส่วนที่เหลือปลูกส้มโอขาวแตงกวา และส่วนผสมอื่นๆ และทางศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการสร้างศิลปะบน ผืนนาด้วยข้าวสรรพสี ปีที่ 1 และได้คัดเลือกแปลงนาที่มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สามารถต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสร้างรายได้จาก soft power ได้ และคัดเลือกแปลงนาของผมเป็นต้นแบบของจังหวัดชัยนาท ข้าวสรรพสี เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์พ่อ “ข้าวเจ้าหอมนิล พันธุ์ข้าวใบขาว” กับพันธุ์แม่ “ข้าวก่ำหอมนิล” จนเกิดเป็น “ข้าวสรรพสี” สารสกัดจากสารต้านอนุมูลอิสระในใบข้าวสรรพสี มีผลช่วยให้ชะลอการเสื่อมของจอรับภาพในระดับเซลล์ของมนุษย์ และกำลังมีการศึกษาวิจัย ประยุกต์นำมาใช้ในการชะลอการเสื่อมของจอรับภาพที่มักเกิดในผู้สูงวัย ในเด็กและกลุ่มคนที่ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน