เทศบาลนครสงขลา เปิดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่ มีวัดต่าง ๆ จากทั่วจังหวัดสงขลานำเรือพระเข้าร่วมจำนวนมาก เน้นส่งเสริมการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลากพระให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของจังหวัดสงขลา และพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความเจริญทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นต่อไป
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่บริเวณหน้าสนามกีฬาติณสูลานนท์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยเทศบาลนครสงขลา ร่วมกับจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี นายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา ในฐานะประธานการจัดงาน นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองสงขลา หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ สมาชิกสภาเทศบาล คณะผู้บริหาร พนักงานเทศบาล และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมในพิธีเปิดงานอย่างเนืองแน่น
โดยกิจกรรมในวันนี้มีการประกวดเรือพระ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทประเพณีนิยม และประเภทอนุรักษ์ท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการประกวดขบวนแห่เรือพระ ชิงถ้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งในปีนี้เรือพระจากวัดต่าง ๆ จะจอดเรือพระให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ บริเวณถนนสระบัว แหลมสมิหลา พร้อมทั้งมีพิธีสมโภชเรือพระในช่วงค่ำของวันนี้ด้วย
สำหรับการจัดงานประเพณีลากพระฯ เทศบาลนครสงขลา ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีลากพระให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของจังหวัดสงขลาสืบไป อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้รู้สึกหวงแหนและตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาให้เป็นที่รู้จักทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ อันจะทำให้เกิดการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลา
ประเพณีลากพระหรือชักพระ เป็นประเพณีสำคัญที่ถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณในเทศกาลออกพรรษา ตั้งแต่สมัยศรีวิชัยประเพณีชักพระเป็นประเพณีที่พราหมณ์ศาสนิกชน และพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าว มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา
ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้เป็นการสมมติตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยอัญเชิญพระพุทธรูปยืนเรียกว่า “พระลาก” (พระปางอุ้มบาตร หรือปางประทานอภัย) ขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกที่ตั้งอยู่บนพาหนะซึ่งทำเป็นรูปเรือหรือพญานาคและประดับตกแต่งเสมือนอย่างปราสาทมณฑปอย่างวิจิตร แล้วแห่แหนสมมุติแทนพระพุทธองค์ด้วยการลากไปตามสถานที่ต่าง ๆ ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือลำคลองก็จะลากพระทางน้ำ หากท้องถิ่นใดห่างไกลจากแม่น้ำ – ลำคลองก็ลากพระทางบก แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากประเภทใดมากกว่ากัน ขบวนลากพระนี้จึงเป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีลากพระหรือชักพระ” มาจนถึงปัจจุบัน
พี่เสือ นักข่าวสงขลา