ข่าวพาดหัวประเพณีโบราณพุทธศาสนา

พุทธศาสนิกชนหลั่งไหล ร่วมใจทำบุญกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 ณ วัดป่าทรงธรรม

พุทธศาสนิกชนหลั่งไหล ร่วมใจทำบุญกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 ณ วัดป่าทรงธรรม
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 นายชยันต์ ศิริมาศ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เดินทางเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 ณ วัดป่าทรงธรรม บ้านหนองดู่ ตำบลธงธานี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระญาณวิลาศ รองเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าอาวาสวัดป่าทรงธรรม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา เป็นจำนวนมาก


ด้วยวัดป่าทรงธรรม ได้จัดงานกฐินสามัคคีเป็นงานประจำปี ในเทศกาลออกพรรษา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาได้ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ และเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างความสามัคคีแก่ญาติมิตรและลูกหลาน
การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น ถือว่าเป็นการสร้างบุญใหญ่ที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง การร่วมเป็นเจ้าภาพนั้นหมายถึง เป็นกฐินสามัคคีที่ทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพได้ ไม่มีกำหนดจำนวนปัจจัยทำบุญ
ในชาดกเรื่องเล่าถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ กล่าวว่า อำนาจ บุญกุศลที่ได้ถวายผ้ากฐิน เป็นกุศลผลบุญที่ใหญ่หลวง ผู้ถวายจะปรารถนาความสำเร็จใด ๆ ในภพชาติใหม่ ก็จะให้สำเร็จได้ดังความปรารถนา เมื่อมีวาสนาบารมีแก่กล้าแล้วก็จะได้สำเร็จดังความปรารถนาที่ตั้งไว้ ผู้มีส่วนร่วมในกฐินย่อมได้อานิสงส์ ผู้ชักชวนให้ทอดกฐินก็ได้อานิสงส์ กฐินมิได้มีอานิสงส์เฉพาะเจ้าของกฐินเท่านั้น แม้ผู้ชักชวนให้ผู้อื่นทอดกฐิน ถ้ารู้จักวิธีในการอธิษฐานบุญก็ย่อมได้รับอานิสงส์เหมือนกัน อานิสงส์ของการร่วมทำบุญทอดกฐินยังมีมากมาย ได้แก่ ทำให้เป็น ผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สินมาก และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์และผ่องใสอยู่เสมอ ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่ ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป และทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ