ข่าวพาดหัวตรวจสอบประชุม

นายกชาย” ลุยตรวจความคืบหน้าก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหาที่ล่าช้า

08-10-66 พี่เสือ นักข่าวสงขลา
นายกชาย” ลุยตรวจความคืบหน้าก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหาที่ล่าช้า ดึงทุกภาคส่วนร่วมประชุมหาทางออกช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ ก่อสร้างมาปีกว่าแต่ความคืบหน้ามีน้อยมาก


8 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประสานงานนายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการนัดประชุมหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชนที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหา โดยมี สส.สิงโต นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.เขต 9 สงขลา นายสมคเน เสมทัพพระ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 นางสาววิไลลักษณ์ เรืองผล นายอำเภอรัตภูมิ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ สุวรรณนพมาศ ผู้กำกับการสถานีตำรวจรัตภูมิ พร้อมด้วยผู้ควบคุมโครงการ ตัวแทนผู้รับเหมาโครงการ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น


สำหรับโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) กับทางหลวงหมายเลข 406 (ถนนยนตรการกำธร) เป็นการก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานบนทางหลวงหมายเลข 4 ข้ามทางหลวงหมายเลข 406 ตัวสะพานมีความยาวรวม 750 เมตร ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ พร้อมสี่แยกวงเวียนระดับพื้นใต้สะพานแบบไม่มีการควบคุมสัญญาณไฟจราจร การปรับปรุงถนน ขยายถนน ทล.4 ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร ขยายถนน ทล. 406 ฝั่งทางไปควนเนียงระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร และฝั่งทางไปรัตภูมิมีการขยายถนนเต็มพื้นที่เขตทางหลวง วงเงินการก่อสร้าง 950 ล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการ 24 กันยายน 2564 สิ้นสุดโครงการตามสัญญาวันที่ 7 กันยายน 2567 แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการขยายเวลาสิ้นสุดโครงการเป็นเดือนมิถุนายน 2568 ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า พีซี-เอสเอ็ม จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างมากกว่า 1 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าตอนแรกก็ดีใจและพร้อมเสียสละเพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้สัญจรไปมาได้รับความสะดวกสบาย แต่นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการทุกคนต่างมีความเห็นกันว่าการงานของผู้รับเหมาเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการประสานงานกับชาวบ้านกับผู้นำในพื้นที่ ผู้ประกอบธุรกิจในแนวเขตก่อสร้างหลายร้านต้องปิดกิจการ บางร้านแบกรับภาระขาดทุนมาตลอดเพราะไม่ลูกค้า ไม่มีเส้นทางให้ลูกค้าเข้ามาถึงร้าน มีการขุดคูปิดทางหน้าบ้านหน้าร้านค้าแล้วไม่ดำเนินการใดๆ เป็นเวลาหลายเดือน รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง โคลนตม ปัญหาการจราจรติดขัด และอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทั้งทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ มีการสอบถาม/ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานแต่ยังไม่ๆได้รับการแก้ไขที่จริงจัง ล่าสุดมีการอภิปรายหารือในสภาโดย สส.ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ไปแล้วแต่ความคืบหน้ายังมีไม่มาก จึงได้มีการนัดประชุมกับทุกภาคส่วนในวันนี้


“ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนหลายจังหวัดที่ผ่านสี่แยกคูหา และจากพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ประการบริเวณสี่แยกคูหาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการที่ไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ผ่านระยะเวลามาปีกว่าแล้วแต่ความคืบหน้ายังน้อยมากไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ หลายคนต้องปิดกิจการ หลายคนต้องแบกรับภาระขาดทุนแบบไม่รู้ว่าจะได้ทำกิจการแบบปกติเมื่อไหร่ วันนี้จึงได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบมานั่งพูดคุยกันว่ามีปัญหาตรงไหน ติดขัดตรงไหน มีอะไรที่เข้าใจไม่ตรงกันให้มาพูดในเวทีเดียวกัน เพื่อให้รับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขในแนวทางเดียวกัน ทั้งจากกรมทางหลวง ผู้รับเหมา ส่วนราชการ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง


วันนี้เป็นเวทีแรกที่ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันอย่างจริงจังและเราจะประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ นอกจากการติดตามงานผ่านสภาแล้วผมได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเข้าพบท่านให้ช่วยกำชับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินงานให้เร็วที่สุด ตอนแรกโครงการกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 67 และทราบว่ามีการขยายเวลาเป็นมิถุนายนปี 68 ซึ่งเราดูแล้วถ้ายังทำอยู่แบบนี้ไม่มีทางเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน จึงต้องกำชับให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามงานอย่างจริงจัง ติดขัดตรงไหนหากช่วยได้ก็ยินดีช่วย แต่หากปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชนของผมด้วย” ส่วนหนึงที่นายกชาย กล่าวในที่าประชุมและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน


พร้อมกันนี้ยังมีการลงพื้นที่เพื่อดูความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รับฟังปัญหาเพิ่มเติมร่วมกันจากทุกฝ่ายที่มีการนำเสนอมุมมองสะท้อนปัญหาที่หลากหลาย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยนายสมคเน เสมทัพพระ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 ได้มารับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและยืนยันว่าจะกำชับทั้งผู้ควบคุมโครงการ ผู้รับเหมาให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตรงไหนที่ชาวบ้านเดือดร้อนต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด มีกรอบเวลาการทำงานที่ชุดเจนและติดตามงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอให้ฝ่ายผู้รับเหมาต้องจัดทีมมวลชนสัมพันธ์ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน จุดไหนที่ทำแล้วชาวบ้านได้รับผลกระทบต้องมีการแจ้งล่วงหน้าและกำหนดเวลาเสร็จให้ชัดเจน มีกลุ่มรายงานความคืบหน้า/ข้อติดขัด ที่มีทุกภาคส่วนทั้งอำเภอ ตำรวจ ท้องถิ่น ท้องที่ ตัวแทนชาวบ้าน ทางหลวง ผู้รับเหมา ไว้สำหรับติดต่อประสานงานกันอย่างจริงจัง โดยหลังจากนี้จะมีการนัดประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ต่อไปจนกว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จ