ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ม.อ. ร่วมกับ IPF ประเดิมเวทีปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์

15-11-66 พี่เสือ นักข่าวสงขลา
ม.อ. ร่วมกับ IPF ประเดิมเวทีปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ “เผยแพร่สันติภาพผ่านวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” โดยมี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดงาน และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ กับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. 66 ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ International Peace Foundation (IPF) และการสนับสนุนของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด โรงแรมดุสิตธานี แอนด์รีสอร์ท ธนาคารกสิกรไทย และ บีเอ็มดับเบิลยู เปิดปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ดร. เซอร์ ริชาร์ด เจ. โรเบิร์ตส์ ในหัวข้อ “เผยแพร่สันติภาพผ่านวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซีย น และในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566
โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนในพื้นที่ ต้อนรับ และเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ดร. เซอร์ ริชาร์ด เจ. โรเบิร์ตส์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ New England Biolabs ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ จากการค้นพบกลไกการแยกยีนส์และการต่อ mRNA เข้าด้วยกัน ซึ่งการค้นพบของ ดร.โรเบิร์ตส์ ได้เปลี่ยนวิธีคิดของนักชีววิทยาเกี่ยวกับเรื่องยีนส์ไปอย่างสิ้นเชิงและนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างแน่วแน่ในหลายๆ ด้าน รวมถึงการวิจัยโรคมะเร็งด้วย
ขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้นำในด้านวิชาการและนวัตกรรมทั้งในภาคใต้ และระดับประเทศโดยกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 แล้ว ยังเป็นการสร้างการรับรู้แก่เครือข่ายการวิจัย และเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาสังคมที่ดีขึ้นด้วย


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวน 5 ท่าน โดยมีคณะต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกำหนดจัดช่วงวันที่ 15 พ.ย. 66 27 มี.ค. 67
นอกจากนี้คณะของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมผลักดันการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก
โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ รวมทั้งคณะผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ


ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้รับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ศิลปะอิสลามกับการพัฒนาผู้ประกอบการ และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์ม และสร้างความเป็นอัตลักษณ์สินค้าปศุสัตว์ จากนั้นได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานเด่น และพูดคุยกับผู้ประกอบการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้เป็นสถานที่สำคัญที่ทำงานเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่มีการนำเอาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ท้องถิ่นของภาคใต้ มาพัฒนา และยกระดับ เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาก
โดยเฉพาะ นวัตกรรมยางพารา อุตสาหกรรมฮาลาล และซอฟพาวเวอร์ต่างๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่าอุ ทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มีความสามารถในการดึงผู้ประกอบการเข้ามาช่วยพลักดัน นโยบายรัฐบาล ด้าน “ระเบียงเศรษฐกิจ” ให้เป็นจริงได้


ทั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญ และพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลมาโดยตลอด และมีการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ ด้านฮาลาล เช่น โครงการสร้างผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ โครงการ Islamic Art ศิลปะอิสลาม สุนทรียะ เสน่ห์ และแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์
อีกทั้ง อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนอย่างครบวงจร โดยในปีพ.ศ.2567 อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลก” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก