17-11-66 พี่เสือ นักข่าวสงขลา
นักท่องเที่ยวชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และมาเลเซีย เดินทางข้ามแดนมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดีปวาลี หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดีย อย่างคึกคัก สร้างสีสันการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจด่านนอกได้เป็นอย่างดี
ช่วงค่ำวันนี้ (17 พ.ย. 66) นายเศวต เพชรนุ้ย ปลัดจังหวัดสงขลา เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลดีปวาลี ด่านนอก 2023 (Diwali Dannok Festival 2023) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างสีสันการท่องเที่ยวเมืองชายแดนให้กลับมาคึกคัก โดยมีส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และมาเลเซีย เดินทางข้ามแดนมาร่วมเฉลิมฉลองกว่าหลายร้อยคน ณ บริเวณบ้านไทย-จังโหลน 6 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่
นายเศวต เพชรนุ้ย ปลัดจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางในด้านการค้าชายแดนและคมนาคมขนส่งของภาคใต้ตอนล่าง ที่เชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้มีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาที่หลากหลาย สามารถพัฒนาเมืองให้สอดรับกับแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างลงตัว ที่จะทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการและประชาชนทุกระดับ
เทศกาลดีปวาลี หรือ ดีวาลี เป็นเทศกาลแห่งแสงสี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวอินเดีย และงานนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลที่สำคัญของจังหวัดสงขลา ทั้งประเทศไทย มีการจัดงานอยู่เพียงสองแห่ง คือ ที่กรุงเทพมหานคร และที่ด่านนอกจังหวัดสงขลา โดยในปีนี้ จะตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 แต่เนื่องด้วยวันดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ชาวอินเดียจะอยู่ฉลองกับครอบครัว จึงต้องร่นการจัดงานออกมาเพื่อร่วมเฉลิมฉลองอีกครั้ง
ด้านดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กล่าวว่า การจัดงานดีปวาลี จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ของพื้นที่ด่านนอก ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ โดยนำเอาวัฒนาธรรมทางอินเดียมาต่อยอดการท่องเที่ยวในพื้นที่ เนื่องจากทางผู้ประกอบการเล็งเห็นว่าย่านด่านนอก โดยเฉพาะบริเวณซอยไทย-จังโหลน 6-8 เป็นย่านที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ที่นิยมเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าที่นี่เป็นย่าน Little India
สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้เพิ่มกลิ่นอายของความเป็นดินแดนภารตะ โดยจัดให้มีขบวนพาเหรดวัฒนธรรมอินเดีย การวาดสีลวดลายบนท้องถนน การแสดงทางวัฒนธรรม การละเล่นในแบบฉบับอินเดีย การจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีการจัดโซน บูชาพระพิฆเนศ และบูชาพระแม่ลักษมีเทวี เพื่อความเป็นสิริมงคล ทำพิธีโดยพราหมณ์อินเดีย ที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย อีกด้วย