นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษก กรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้เพิ่มมาตรการติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบขนส่งยาเสพติด
ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการขนส่งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีนโยบายให้แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน
และจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งยาเสพติดระหว่างประเทศ พบว่า ผู้กระทำความผิดยังคงมีการขนส่งยาเสพติดผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ไปนอกราชอาณาจักร เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังคงมีผู้กระทำความผิดลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE) ประกอบด้วย
กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปราม
ยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ในการลักลอบส่งของต้องห้าม ต้องจำกัด ออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบว่ามีการลักลอบนำยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักรผ่านพัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ปลายทางประเทศ AUSTRALIA ถึง 2 ชิปเม้นท์ โดยในช่วงเวลา 10.30 น. พบพัสดุต้องสงสัย สำแดงชนิดสินค้าเป็น Photo จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนักรวม 8.310 กิโลกรัม ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ลักษณะผงสีขาว ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องพลาสติกที่เคลือบทับด้วยเรซิน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,000 กรัม มูลค่า 9 ล้านบาท ต่อมา เวลา 11.30 น. พบพัสดุต้องสงสัย สำแดงสินค้าเป็น Photo จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนักรวม 8.440 กิโลกรัม ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ลักษณะผงสีขาว ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องพลาสติกที่เคลือบทับด้วยเรซิน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 2,993 กรัม มูลค่า 8.979 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ชิปเม้นท์ มีการซุกซ่อนยาเสพติดในลักษณะเดียวกัน
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
นอกจากนี้ กรมศุลกากร และชุดปฏิบัติการ AITF ได้ร่วมกันตรวจสอบผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้จับกุมผู้โดยสารหญิง สัญชาติเคนยา เดินทางมาจากเมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการตรวจค้น พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าถือติดตัว
ขึ้นเครื่องบินและซุกซ่อนไว้ในร่างกายภายในช่องทวาร น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,240 กรัม มูลค่า 3.72 ล้านบาท
และในวันเดียวกัน (5 ธันวาคม 2566) กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF จับกุมผู้โดยสารชาย สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเดินทาง
มาจากกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการตรวจค้น กระเป๋าสัมภาระของผู้กระทำความความผิด พบวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 2 เคตามีน (Ketamine) น้ำหนัก
รวมสิ่งห่อหุ้ม 3,100 กรัม ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 ยาอี (MDMA / ECSTASY) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,000 กรัม และ MDA น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3.1 กรัม และยาเสพติดให้โทษ ประเภท 4 (2C-B) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3.1 กรัม มูลค่า 9.1 ล้านบาท โดยของกลางทั้งหมดถูกเก็บไว้ในช่องลับที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ
ในกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสาร
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติดของกรมศุลกากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 5 ธันวาคม 2566) มีจำนวน 33 ราย มูลค่ารวมประมาณ 194.757 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจาก กรมศุลกากรจะให้ความสำคัญและเข้มงวด
ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว กรมศุลกากรยังให้ความสำคัญกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้า – ส่งออก ซึ่งของต้องห้าม ต้องจำกัด
ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จับกุมผู้โดยสารชาย สัญชาติจีน (ไต้หวัน) ซึ่งจะเดินทางไปยังกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พยายามลักลอบนำสัตว์มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร ผลการตรวจค้น พบสัตว์มีชีวิตประเภท นากเล็กเล็บสั้น ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามเลี้ยง ล่า หรือค้า จำนวน 2 ตัว และแพรรีด็อก (Prairie dog / กระรอกดิน) จำนวน 1 ตัว ของกลางทั้งหมดแยกเก็บไว้ในถุงเท้าแล้วซุกซ่อนไว้กับตัวบริเวณต้นขา โดยสวมใส่กางเกง 3 ชั้น ใช้เทปกาวพันถุงเท้าบรรจุสัตว์มีชีวิตไว้กับกางเกงชั้นในสุด
แล้วสวมกางเกงบ๊อกเซอร์และกางเกงยีนส์ทับไว้
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 มาตรา 167 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานพยายามส่งออกสัตว์ป่าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2562 และยังเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว