ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

จันทบุรี – จัดการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย ครั้งที่18ประจำปี2566

ชมรมรักษ์เสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยจันทบุรีร่วมกับเทศบาลตำบลพลับพลา สภาวัฒนธรรมตำบลพลับพลา และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี จัดการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย ครั้งที่18ประจำปี2566


วันนี้ ( 9ธ.ค.66 )ที่สนามทุ่งโล่งหนองสิต หมู่10 บ้านดาวเรือง ตำบลพลับพลา อำเภอเมืองจันทบุรี ได้มีกำหนดจัดการแข่งขันเสียงอู๊ดว่าวดุ๊ยดุ่ย โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำปี2566 โดยพิธีเปิดการแข่งขันปีนี้ นายมณเฑียร วานิชศรี นายกเทศมนตรีตำบลพลับพลา ได้กล่าวรายงานต่อ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดการแข่งขัน พร้อมยังได้ร่วมทดลองการละเล่นก่อนที่จะรับชมการแข่งขันตลอดทั้งช่วงเช้าที่ผ่านมา ในการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยในปีนี้ มีกำหนด 2วันด้วยกัน คือระหว่างวันที่9-10ธันวาคม โดยการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 3ประเภท ได้แก่ ประเภทอูดจิ๋ว ของรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน12ปี มีความยาวอูดไม่เกิน70เซนติเมตร ตามด้วย ประเภทอูดสั้น มีความยาวอูดไม่เกิน90เซนติเมตร และประเภทอูดยาวมีความยาวอูดตั้งแต่100เซนติเมตรขึ้นไป

ซึ่งการตัดสิน ทางคณะกรรมการ จะวัดจากเสียงอูดว่าเสียงดังกังวาลดีหรือไม่ เสียงอูดมีคมชัดหรือไม่ และเสียงอูดมีจำนวนหลายเสียงดังต่อเนื่องดีหรือไม่ เสียงอู๊ดของว่าวดุ้ยดุ๋ยนี้ จะมีโทนเสียงสั้นยาวแตกต่างกันออกไปตามลักษณะความบางจากไม้ไผ่หรือเส้นหวายที่นำเหลาให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วเอาปลายเชือกสองข้างผูกติดกับปลายคัน เมื่อติดเครื่องทำเสียงนี้แล้วก็จัดการให้ว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ ไม้ไผ่หรือหวายแผ่นบางๆที่ถูกขึงอยู่นั้น เมื่อสายลมมาปะทะ ก็จะทำให้เกิดเสียงดัง ตุ๋ยตุ่ย หรือดุ๊ยดุ่ย อยู่ตลอดเวลานั่นเอง โดยปกติคนสมัยก่อนจะชักขึ้นในเวลากลางคืน ตามท้องทุ่งท้องนา นอนฟังเสียงกล่อมเพลินแทนเครื่องดนตรีจนหลับไหล และเมื่อชาวบ้านสนใจเล่นมากขึ้นเรื่อยๆจึงกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งชื่อตามเสียงที่ได้ยิน ลักษณะของว่าวดุ๊ยดุ่ยจะมีปีกขนาดเล็กกว่าว่าวจุฬา แต่จะพิเศษตรงส่วนหัวที่เกิดจากภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน ที่ได้ผูกคัน หรือ อูด ซึ่งทำจากไม้ไผ่หรือเส้นหวายดัดโค้ง ผูกเชือกที่ปลายทั้ง 2ข้าง คล้ายกับคันธนู บนเส้นเชือกจะติดแผ่นหวายบางๆ ซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง ดุ๊ย ดุ่ย และเมื่อลอยไปมาอยู่ในอากาศ ส่วนหางจะใช้ใบที่เป็นผ้าหรือกระดาษต่อกันเป็นหางยาว 2ข้าง โดยจะทำให้การเคลื่อนตัวของว่าวเชื่องช้าและดูสง่างาม อย่างไรก็ดี การเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ยมักนิยมเล่นกันในช่วงหลังทำนาข้าวเสร็จ ประมาณช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีลมเหนือพัดลงมาอย่างแรง อันเป็นช่วงฤดูหนาวพอดี ปัจจุบัน ทางชมรมต้องการให้เกิดการสืบทอดจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ จึงจัดการแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยขึ้นในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรีซึ่งจัดการแข่งขันมาเป็นระยะเวลา18ปีแล้ว

โดยใช้พื้นที่บริเวณทุ่งโล่งหนองสิตของหมู่บ้านดาวเรืองตำบล พลับพลาอำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรี เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน วัตถุประสงค์ ก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์เสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่สืบไป

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี 089-6767346
พสิษฐ์ เขม้นเขตวิทย์ รายงาน 062-7584334