ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

สวนสัตว์สงขลาได้เฮ หลังใช้ความพยายามมา กว่า 8 ปี ขณะนี้เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนหงอนพู่ สืบทอดทายาทเป็นสมาชิกใหม่แล้ว 2 ตัว

พี่เสือ นักข่าว สงขลา
สวนสัตว์สงขลาได้เฮ หลังใช้ความพยายามมา กว่า 8 ปี ขณะนี้เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนหงอนพู่ สืบทอดทายาทเป็นสมาชิกใหม่แล้ว 2 ตัว นกกระเรียนหงอนพู่ นกหายากสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธ์จากทุ่งหญ้าสะวันนา แอฟริกาใต้


นายพิเชษฐ์ ทัปนวัชร์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจาก ฝ่ายบำรุงสัตว์ สวนสัตว์สงขลา มีลูกนกกระเรียนหงอนพู่ เกิดใหม่จำนวน 2 ตัว กำลังเดินหากินตามแม่นกกระเรียน โดยมีพ่อนกกระเรียนคอยเฝ้าระมัดระวังอันตรายอย่างรอบด้านในบริเวณใกล้เคียง ภายในส่วนแสดงเบริ์ดแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์แห่งนก สวนสัตว์สงขลา โดยผู้ดูแลส่วนแสดงสัตว์ป่าบริเวณนี้ เล่าว่า ได้พบเห็นการวางไข่ จำนวน 2 ฟอง ภายใต้รังที่สร้างด้วยใบไม้แห้ง ขนาด 40 เซนติเมตร และได้เฝ้าสังเกต การกกไข่ของนกกระเรียนคู่นี้ มาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566 โดยเห็นลูกนกตัวแรกออกจากไข่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 หลังวันเด็กแห่งชาติเพียง 1 วัน

จากนั้น ก็เฝ้าสังเกตการกกไข่ฟองที่สองอย่างใกล้ชิด สำหรับไข่ฟองที่สองนั้น มีความกังวลว่า อาจจะไม่ได้ลูกตัวที่สอง เนื่องจากแม่นกกระเรียน มีความหวาดระแวงต่ออันตราย จึงทำให้ไม่สามารถฟักไข่ได้อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายก็โล่งใจ เนื่องจากพบเจอลูกนกกระเรียนตัวที่สอง ลืมตาออกมาดูโลกได้ เมื่อเช้าของวันที่ 15 มกราคม 2567 อย่างไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบเข้าติดตามดูแลความปลอดภัยของนกกระเรียนน้อยอย่างใกล้ชิดแล้ว
โดยให้ดำเนินการตรวจตราความปลอดภัยภายในส่วนแสดงทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นเข้ามาทำร้ายหรือเข้ามารบกวนแม่นกกระเรียน เนื่องด้วยภายในส่วนแสดงเบริด์แลนด์ มีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันตามธรรมชาติและมีสัตว์ป่าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมักเข้ามาหากินในพื้นที่ส่วนแสดงด้วย เช่น ลิง หนู และงูเหลือม


สำหรับ นกกระเรียนมงกุฎเทา หรือ นกกระเรียนหงอนพู่ (อังกฤษ: Grey crowned crane; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balearica regulorum) เป็นนกในวงศ์นกกระเรียน พบในทุ่งหญ้าสะวันนา ในทวีปแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ทำรังในพื้นที่เปียกชื้น ไม่ใช่นกอพยพ ปกติจะสร้างรังจากหญ้าและพืชอื่นๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำ สามารถวางไข่ครั้งละ 2 – 5 ฟอง พ่อและแม่ช่วยกันฟักไข่และใช้เวลา 28 – 31 วันจึงฟักเป็นตัว ลูกนกขนจะขึ้นเต็มที่ใน 56 – 100 วัน