ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวประชุม

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จับมือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่ง สปป.ลาว ประชุมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารเพื่อเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญญาอุทกภัย

วันที่ 22 มกราคม 2567 ที่โรงแรม intercontinental Pattaya Resort อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีการประชุมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัย ซึ่งเป็นการประชุมความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แห่งราชอาณาจักรไทย และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมกับ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมคณะจากประเทศไทย และ นายพูวง หลวงไชชะนะ รองรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางพักกาวัน พิดสะไหม อธิดีกรมแผนการและการเงิน ดร.วินเลี่ยม บุนล้อม รองอธิบดีกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ พร้อมคณะจาก สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุม


โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวว่า ประเทศไทย โดยมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ทำความร่วมมือกับ สปป.ลาว ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในการติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งเป็นระบบการวัดปริมาณน้ำฝนบนที่สูง เข้าไปติดตั้งในพื้นที่ สปป.ลาว เพื่อนำข้อมูลจากโทรมาตรมาประเมินความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัย เนื่องจาก ไทย – ลาว อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน หากมีการเกิดพายุฝนก็จะมีผลกระทบต่อเนื่องกัน ซึ่งการติดตั้งเครื่องโทรมาตรในพื้นที่ สปป. ลาว นั้น ทาง สปป.ลาว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลปริมาณฝน การพยากรณ์สภาพอากาศ นำไปวางแผนการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยได้อีกด้วย โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการมาร่วม 3 ปี ประเทศไทยได้เข้าไปติดตั้งเครื่องโทรมาตรรวมกว่า 20 สถานี แล้ว โดยเป้าหมายในปีนี้ คือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนของ สปป.ลาว ให้มีความรู้ด้านเทคนิค การใช้งานระบบโทรมาตร และนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการบำรุงรักษาเครื่องโทรมาตรให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะเป็นผู้สนับสนุนความรู้ดังกล่าว