ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ชาวสวนยางเร่งกรีดยางให้ได้มากที่สุด เนื่องจากใกล้ถึงช่วงยางผลัดใบและแตกใบอ่อนในเดือนมีนาคมของทุกปี

พี่เสือ นักข่าว สงขลา
ชาวสวนยางเร่งกรีดยางให้ได้มากที่สุด เนื่องจากใกล้ถึงช่วงยางผลัดใบและแตกใบอ่อนในเดือนมีนาคมของทุกปี หลังมีการแจ้งเตือนเพราะอาจทำให้ต้นยางเสียหาย อายุกรีดสั้นลง แนะช่วงพักกรีดยาง ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ในพื้นที่ว่างในสวนยาง สร้างรายได้เสริม
นี่เป็นวิถีชีวิตของชาวสวนยางที่ต้องออกจากบ้านไปกรีดยาง ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึง 7 โมงเช้าทุกวัน เนื่องจากพื้นที่กรีดยางมีจำนวนหลายสิบไร่ จึงต้องใช้เวลาในการกรีดยาง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากพื้นที่สวนยางอยู่คนละหมู่บ้านกันในช่วงนี้จึงจำเป็นต้องเร่งกรีดยางให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่ผ่านมา

ในเดือนมกราคม 2567 ชาวสวนยางในจังหวัดสงขลาก็เจอฝนตกมาตลอดเกือบทั้งเดือน ไม่สามารถกรีดยางได้ เมื่อย่างเข้าต้นเดือนกุมภาพันธ์และผ่านพ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมาแล้ว ทำให้สามารถออกไปกรีดยางได้ทุกวันไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากเดือนมีนาคมที่กำลังจะมาถึงก็จะต้องหยุดกีดยางแล้ว
ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เกษตรกรชาวสวนยางจะหยุดกรีดยางช่วงยางผลัดใบและแตกใบอ่อน โดยการยางแห่งประเทศไทย จะออกประกาศเตือนให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยางชั่วคราว เนื่องจากตามวงจรธรรมชาติ ฤดูที่ยางผลัดใบจะเป็นช่วงหน้าร้อนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้เดือนมีนาคมทุกพื้นที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง และเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ โดยใบยางจะมีสีเหลือง และร่วงหล่นจากต้น เป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าของสวนยางควรหยุดกรีดยางในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ ทิ้งใบ ต้นยางจะไม่มีใบสีเขียวเพื่อการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นยางต้องเคลื่อนย้ายอาหารที่เป็นแป้งและน้ำตาลจากใบแก่ไปเก็บไว้ที่บริเวณลำต้น และเมื่อยางเริ่มแตกใบอ่อน อาหารที่ถูกเก็บไว้ที่ลำต้นจะถูกนำไปใช้สร้างใบอ่อนของต้นยาง ในช่วงนี้ ถ้าเกษตรกรยังฝืนกรีดยาง ก็จะเป็นเหมือนการแย่งอาหารต้นยาง ส่งผลให้ยางเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ต้นยางไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่ออายุการกรีดที่ไม่ยาวนานของต้นยางในอนาคต

นอกจากนี้ การฝืนกรีดยางในช่วงผลัดใบหรือแตกใบอ่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นยางไม่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้เต็มที่ ส่งผลให้ต้นยางไม่สมบูรณ์และทรมานต้นยาง อาจทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้ง หรือกรีดแล้วไม่มีน้ำยาง ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางควรหยุดกรีดยางในช่วงนี้ เพื่อเป็นการพักต้นยางพารา ให้สามารถสะสมอาหารไปหล่อเลี้ยงใบอ่อนเพื่อสร้างความเจริญเติบโต และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยาง ซึ่งชาวสวนยางสามารถเริ่มกรีดได้อีกครั้ง ในช่วงที่ใบยางที่แตกใหม่เจริญเต็มที่และเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม


อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ยางผลัดใบ เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ควรหาอาชีพเสริมเข้ามาทำ ตามถนัด โดยใช้เนื้อที่ว่างที่มีอยู่ในสวนยางเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ทั้ง มะละกอ ฟักทอง พืชตระกูลถั่วต่างๆ รวมทั้งการปลูกผลไม้ที่ให้ผลผลิตเร็ว เพื่อการบริโภคในครัวเรือน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ และเป็นการสร้างรายได้ ขณะหยุดพักกรีดยางได้อีกทางหนึ่งด้วย