AOT Kick off ดันไทยขึ้นแท่นท็อปศูนย์กลางการบินโลก
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) พร้อมส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
นายเศรษฐา ทวีสิน บนเป้าหมายการผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก
เพิ่มขีดศักยภาพรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 150 ล้านคนต่อปี ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดเป็น 1 ใน 10 ของโลก
ประเทศไทยมีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบินเพราะตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน และได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีการบินอาเซียน ในฐานะที่ AOT กำกับดูแลท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และ
ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จึงถือเป็นประตูด่านแรกในการสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ ดังนั้นเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ AOT จึงมุ่งมั่นเพิ่มขีดความสามารถของ
ท่าอากาศยานเพื่อการรองรับการจราจรทางอากาศที่จะเติบโตในอนาคต เชื่อมโยงสนามบินกับโครงข่ายการเดินทาง
ทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับฮับการเดินทางภูมิภาค อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) และท่าอากาศยานสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet)
เพื่อจูงใจสายการบินทั่วโลกให้เข้ามาเปิดเส้นทางใหม่ ขานรับการเติบโตที่ก้าวกระโดดของตลาดการบินเอเชียแปซิฟิก โดยปัจจุบัน AOT ได้เร่งรัดแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินในระยะ 10 ปี เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคน ต่อปี โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ทสภ.ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ส่วนปี 2567 ทสภ.เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก
ของอาคารผู้โดยสาร (East-West Expansion) เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 60 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
AOT ยังเตรียมพร้อมการพัฒนาสนามบินท้องถิ่นให้เป็นฮับการบินภูมิภาคเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางการบินและบรรเทาปริมาณการจราจรทางอากาศที่หนาแน่นในสนามบินหลักของประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่เมืองรอง สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งเป็นสนามบินหลักรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค AOT จึงมีแผนเพิ่มขีดความสามารถ
การรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดง การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชน และการก่อสร้างอาคารจอดรถรองรับได้ 7,600 คัน ส่วนด้านภาคใต้ซึ่งมีเศรษฐกิจการท่องเที่ยวหนาแน่นมากที่สุดนั้น AOT มีแผนขยายขีดความสามารถของ ทภก. พัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี รวมถึงแผนการก่อสร้าง ทภก.แห่งที่ 2 หรือ
ท่าอากาศยานอันดามัน รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 40 ล้านคน มีศักยภาพเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) รองรับเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point นอกจากนี้ AOT ยังได้ศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่จอดอากาศยานขึ้น-ลงในทะเลรองรับผู้โดยสารชั้นสูงอีกด้วย ขณะที่ฮับการบินทางภาคเหนือยังมีโครงการขยาย ทชม.ระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี รวมทั้งแผนการก่อสร้าง ทชม.แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา รองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ส่วนโครงการพัฒนา ทชร.ระยะที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 6 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับการเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนา MRO เพื่อรับซ่อมบำรุงอากาศยานแบบครบวงจร อย่างไรก็ตาม AOT ยังมีแผนการรับโอนสิทธิการบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ เพื่อพัฒนาเป็นประตูเมืองเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน (Gateway) โดยอีสานเหนือคือ ท่าอากาศยานอุดรธานีเชื่อมต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอีสานใต้คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์เชื่อมต่อราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินอาเซียน ส่วนท่าอากาศยานกระบี่จะเข้ามาช่วย
แบ่งเบาปริมาณการจราจรทางอากาศที่เต็มขีดความสามารถของ ทภก.และรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก
นอกจากเพิ่มศักยภาพการขนส่งผู้โดยสารแล้ว AOT ยังมุ่งมั่นด้านภารกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศพร้อมดำเนินโครงการขยายอาคารคลังสินค้าให้รองรับปริมาณสินค้าได้กว่า 3.5 ล้านตันต่อปี และโครงการก่อสร้างคลังสินค้า
ใกล้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2 Cargo) ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพงานบริหารจัดการสินค้า ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสผู้ประกอบการไทยไปสู่ตลาดโลกได้ดีมากขึ้น ตลอดจนดึงดูดให้บริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของโลกเข้ามาร่วมลงทุนสร้างศูนย์กลางการกระจายสินค้าทางอากาศแห่งภูมิภาค ณ ทสภ. อย่างไรก็ตาม AOT ยังมีแผนกิจกรรมเชิงพาณิชย์บนพื้นที่บริเวณโดยรอบ ทสภ.เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการขนาดใหญ่
มาตั้งการจัดเก็บและกระจายสินค้า รวมถึงพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยและแก้ปัญหา
คอขวด บรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน ได้แก่ (1) ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment: CUTE) เป็นระบบอำนวยความสะดวกและจัดการด้านการเข้าถึงระบบเช็กอินผู้โดยสารผ่าน Airlines Application (2) ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เป็นระบบอำนวยความสะดวก และจัดการด้านการเข้าถึงระบบเช็กอินผู้โดยสาร โดยมุ่งเน้นการบริการแบบ Self-Service ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวรอ (3) ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระสู่สายพานลำเลียงได้ด้วยตนเองอัตโนมัติ (4) ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS) เป็นระบบการตรวจสอบข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (5) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) เพิ่มความสะดวกสบายนักเดินทาง (6) ระบบ Individual Carrier System (ICS) ซึ่งเป็นระบบขนส่งสัมภาระความเร็วสูงและมีความแม่นยำสูงในการตรวจสอบติดตามสัมภาระ (7) ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติขาออก (Auto Channel) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจหนังสือ เดินทางจากเดิม 5,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 10,000 คนต่อชั่วโมง (8) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) รถไฟฟ้าเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารกับอาคาร SAT-1 นอกจากนี้ยังให้บริการผ่านโครงข่าย 5G นำเสนอประสบการณ์เดินทางแบบใหม่ให้กับผู้โดยสาร เช่น หุ่นยนต์อัจฉริยะ AI (Artificial Intelligence) ระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Biometric) ระบบความปลอดภัยการบินขั้นสูง (Advance Aviation Safety) และระบบตรวจจับวัตถุต้องสงสัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม AOT ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการภาคพื้น (Ground Handling) รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น โดยเปิดกว้างให้เกิดผู้บริหารรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการอีกด้วย
นอกจากงานบริการที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว AOT ยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการก้าวไปสู่ศูนย์กลางการบินโลก ปัจจุบัน สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยบุคลากรที่ปฏิบัติงานเป็นผู้ที่ได้รับรองจากรัฐและอุปกรณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยที่ AOT นำมาใช้งานนั้นเป็นอุปกรณ์ที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งของสหรัฐอเมริกา (Transportation Security Administration: TSA) และ (European Civil Aviation Conference: ECAC)
เป็นหน่วยงานมาตรฐานระดับสากลของอเมริกาและยุโรปให้การรับรอง การพัฒนาสนามบินไม่เพียงสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Journey) จึงถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการส่งเสริมศูนย์กลางการบิน เพื่อเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจสำคัญและเชื่อมเส้นทางไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน ทสภ.สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างครบครันทั้งระบบขนส่งมวลชนทางรางเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวง
รถโดยสารสาธารณะ และในอนาคตสามารถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-
อู่ตะเภา ทั้งนี้ การเป็นศูนย์กลางการบินของโลกจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ จากความสะดวกสบายของการเดินทางเส้นทางการบินที่หลากหลาย กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคไปจนถึงการสร้างความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน
สมุทรปราการ – บุญประสิทธิ์ นุชนารถ