ข่าวพาดหัวจับกุม

กรมศุลกากรระดมกำลังลงพื้นที่เข้าตรวจค้นจับกุม การลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าหลายแห่ง ภายในวันเดียวกัน

วันนี้ (9 มีนาคม 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน นั้น นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการสืบสวนและปราบปราม ผู้กระทำความผิดเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อปกป้องประชาชนและเยาวชนที่อาจได้รับสารพิษจากบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ แม้ว่ากรมศุลกากรจะมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องด้วยขนาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่ง่ายต่อการซุกซ่อนได้อย่างแนบเนียน กรมศุลกากรจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบร้านค้า
ที่อาจลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์เข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร

โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 กรมศุลกากรโดยกองสืบสวนและปราบปราม ลงพื้นที่ในเขตตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อตรวจสอบร้านค้าที่ได้รับเบาะแสว่ามีการลักลอบนำสินค้าที่มิได้เสียภาษีอากรและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องมาจำหน่าย พบร้านค้าจำนวน 5 ร้าน มีบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ฟ้า จำหน่ายอยู่ภายในร้าน มูลค่ารวมกว่า 2.30 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเข้าตรวจค้น ดังนี้
1. ร้านค้าไม่ปรากฏบ้านเลขที่ พบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 125 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 118 ชิ้น
รวมจำนวน 243 ชิ้น มูลค่า 95,000 บาท
2. ร้านค้าตั้งอยู่ในตลาดทีมาร์เก็ต พบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 549 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 760 ชิ้น และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 402 ชิ้น รวมจำนวน 1,711 ชิ้น มูลค่า 330,000 บาท
3. ร้านค้าตั้งอยู่ริมถนนหมู่บ้านบัวทอง พบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 388 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า
341 ชิ้น และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 161 ชิ้น รวมจำนวน 890 ชิ้น มูลค่า 170,000 บาท
4. ร้านค้าตั้งอยู่ในตลาดมีดี ถนนทางหลวงชนบท 1009 พบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1,253 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 3,337 ชิ้น และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 280 ชิ้น รวมจำนวน 4,870 ชิ้น มูลค่า 1,300,000 บาท
5. ร้านค้าตั้งอยู่บนถนนหมู่บ้านบางบัวทอง พบบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 5 ลัง มูลค่า 440,000 บาท

การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 246 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 27 กุมภาพันธ์ 2567) กรมศุลกากรสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 112 ราย ปริมาณ 150,100 ชิ้น มูลค่า 17.85 ล้านบาท

โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว รายงาน