ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ผ้าย้อมสีจากครามธรรมชาติโดยการถ่ายโอนสีด้วยความร้อนลงบนพื้นผ้า สร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้ชุมชน

ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนราพิมพ์ใบ ที่ใช้ใบไม้ ดอกไม้ ในการถ่ายโอนสีด้วยความร้อนลงบนพื้นผ้า ตั้งอยู่เลขที่ 167/12 ซอยทุ่งป่าคา ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งมีสมาชิกด้วยกัน 7 คน ใช้เวลาว่างพิมพ์ลายธรรมชาติด้วยส่วนต่างๆของต้นไม้บนผืนผ้า ให้เกิดลวดลายที่งดงามเป็นเอกลักษณ์มีเสน่ห์เฉพาะตัว ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนราพิมพ์ใบ เป็นกลุ่มแรกที่ฟื้นฟูการย้อมครามโดยใช้ต้นครามจากธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นถิ่น มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ ครามป่าจะให้สีเหลืองจากการต้ม และครามทะเลจะให้สีน้ำเงินครามจากการหมัก เป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บนผืนผ้าโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ
ก่อนอื่นเรามารู้จักต้นครามกัน ต้นครามจะเป็นพืชตระกูลถั่วมีลักษณะเป็นไม้พุ่มลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 0.5 ถึง 2 เมตร ใบสีเขียวเป็นรูปวงรีเรียงสลับปลายจะแหลม ดอกสีชมพูอ่อนออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ผลเป็นฝักแบน ยาว 3 ถึง 5 ซม. ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลขึ้นตามชายหาดหรือพื้นที่ชายเลน สรรพคุณของต้นครามนอกจากใช้ย้อมผ้าแล้ว ยังสามารถนำต้นและใบมาตำพอกแก้ปวด แก้บวม รวมไปถึงนำมาต้มแล้วดื่มแก้ท้องเสียได้ด้วย


การนำครามมาย้อมผ้าจะมีขั้นตอนและกระบวนการที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันและความละเอียดอ่อน โดยจะเริ่มจากขั้นตอนที่ 1 การเก็บใบครามทะเลเอามาหมักกับน้ำในถังพลาสติกในอัตราส่วนที่เหมาะสมแล้วปิดฝาให้แน่น ซึ่งลักษณะพิเศษของกลุ่มจะใช้เทคนิคในการผสมครามทั้ง 2 ชนิด คือ ครามป่าจะใช้วิธีการต้มจะได้เป็นสีเหลือง เมื่อผสมกับครามทะเลที่ใช้วิธีหมัก จะให้เป็นสีเขียวตองอ่อน ที่เป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะ ซึ่งทางศูนย์เรียนรู้นราพิมพ์ใบย้อมสีธรรมชาติ จะทำการย้อมผ้าเป็นสีประจำจังหวัดนราธิวาส
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการหมักครามโดยใช้ใบครามหมักกับน้ำตามอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นก็ทิ้งไว้ 18 ชั่วโมง แล้วเอาใบครามออกมากรองเอาเฉพาะน้ำ หมักครามผสมด้วยปูนแดงแล้วตีให้ขึ้นฟอง จากนั้นทิ้งไว้ 1 คืน เราจะเห็นครามมีปฏิกิริยาแยกเป็นฟอง น้ำด่าง และเนื้อคราม เสร็จแล้วเราตักเอาฟองของครามออก เหลือส่วนน้ำด่างกับเนื้อครามเก็บเอาไว้ จากนั้นก็ใช้ผ้าขาวกรองน้ำด่างกับเนื้อคราม จนได้เนื้อครามที่ข้นตามต้องการเก็บเอาไว้


ขั้นตอนที่ 3 คือการย้อม ซึ่งจะต้องนำผ้าสีขาวไปซักกับส่วนผสมสารส้ม เบกกิ้งโซดาและน้ำปูนใส บิดให้แห้งแล้วนำกางกับโต๊ะให้ตึง ทำลวดลายต่างๆด้วยการนำใบไม้และดอกไม้ชนิดต่างๆ ถ้าของสดจะเป็นสีเขียว ถ้าของแห้งจะออกเป็นสีน้ำตาล มาวางเรียงบนผืนผ้าสีขาวตามความเหมาะสมหรือตามความต้องการ หลังแล้วเสร็จก็นำผ้าสีขาวมาปูนทับผืนผ้านั้นเหมือนกับประกบไว้ หลังจากนั้นก็ม้วนผ้าที่ตึงประกบกันให้แน่นเป็นเหมือนทรงกระบอก จากนั้นนำผ้าที่ม้วนไปลงในซึ้งนึ่งอาหารเพื่อเป็นการผ่านความร้อน เพื่อให้สีตามใบไม้หรือดอกไม้ ที่เราวางเป็นแผ่นในผืนผ้า ได้ก๊อปปี้ลงในผืนผ้าที่เราต้องการเป็นลายแม่พิมพ์ ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเอาออกจากซึ้งคลี่ออกมาก็จะพบว่าผืนผ้าทั้ง 2 ชุด ที่ม้วนติดกันจะได้ลายตามต้องการ
หรือถ้าเราต้องการลายเพิ่มก็เอาผ้าผืนนั้นที่มีลายอยู่แล้วไปมัดกับหนังสติ๊ก หรือใช้เข็มเนาด้วยด้าย แล้วเรานำไปย้อมด้วยครามป่าเสียก่อน 1 ครั้ง ถ้าพอใจเสร็จแล้วนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หรือถ้าต้องการเพิ่มสีสันก็นำไปย้อมด้วยครามทะเลอีกครั้ง ก็จะได้ทั้งสีเหลืองและสีครามบนผืนผ้าชิ้นนั้นอย่างกลมกลืน


ขั้นตอนที่ 4 คือขั้นตอนสุดท้าย นำผ้าในขั้นที่ 3 คือ ไปล้างหรือซักในน้ำสะอาด หรือโดยเฉพาะน้ำทะเล เพื่อเป็นการเพิ่มความคงทนของลวดลายให้มีสีสันที่สวยงามและอยู่คงทน ก่อนที่จะครบกระบวนการผลิตทั้งหมวก เสื้อ กระเป๋าและผ้าหลา ที่นำไปวางจำหน่าย
โดยนางประนอม ถาวโรฤทธิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนราพิมพ์ใบ กล่าวว่า ทางกลุ่มใช้ใบไม้ดอกไม้ต่างๆมาพิมลงบนผืนผ้า ด้วยการใช้ไอน้ำดึงสีลงบนผืนผ้า โดยการพิมพ์ผ้าก่อนนำมาย้อมครามซึ่งนราธิวาสเรา มีจุดครามจุดเด่นอยู่ 2 อย่างคือ คือ ครามป่ากับครามทะเล ซึ่งครามป่าจะให้สีเหลืองจากการต้ม ส่วนครามทะเลจะให้สีน้ำเงินจากการหมัก แล้วนำมาตีให้เกิดเนื้อคราม นราพิมพ์ใบได้ทำการย้อมครามโดยการที่พิมพ์ใบไม้ก่อน แล้วก็เอามาย้อมครามป่าซึ่งให้สีเหลือง เมื่อย้อมครามป่าเสร็จแล้ว ก็มามีดย้อมเพิ่มกับครามทะเลซึ่งเป็นสีน้ำเงิน ทำให้ออกมาเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีตรงกับสีประจำจังหวัดนราธิวาส สามารถติดตั้งสั่งซื้อผ่านทางเพจนราพิมพ์ใบ หรือเบอร์โทร 094-5935539 ผลิตภัณฑ์เรามีหลายอย่าง อาทิ กระเป๋า เสื้อ หมวก และผ้าลาย ที่เราต่อยอดเรื่องของงานบาติก

17 มีนาคม 2567
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส