ข่าวทั่วไป

ผวจ.จังหวัดจันทบุรี ลงพื้นที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน บางชัน อ.ขลุง รับทราบปัญหา ความต้องการของชาวบ้าน และ การแก้ปัญหาขยะทะเล

ผวจ.จันทบุรีลงพื้นที่รับทราบปัญหาชาวบ้าน หมู่บ้านไร้แผ่นดิน
ผวจ.จังหวัดจันทบุรี ลงพื้นที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน บางชัน อ.ขลุง รับทราบปัญหา ความต้องการของชาวบ้าน และ การแก้ปัญหาขยะทะเล

ที่บ้านโรงไม้ หมู่ที่ 2 ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี หรือหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ภายหลังเสร็จสิ้นการมอบนโยบาย ให้กับข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ในอำเภอขลุง นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงเรือเดินทางไปที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากท่าเรือขลุง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางทางน้ำจากที่เรือคลองขลุง ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที ติดตามการแก้ปัญหาขยะทะเล รับทราบปัญหาอุปสรรคของชาวบ้าน อาทิ เอกสารสิทธิที่ดินทำกิน ปัญหาเครื่องมือประกอบอาชีพในการจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย การบุกรุกป่าสงวน การปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค และการกัดเซาะชายฝั่ง และการรุกล้ำลำน้ำ จาการได้พบปะกับประชาชนและผู้นำท้องถิ่น ของตำบลบางชัน อำเภอขลุง จ.จันทบุรี

โดยเบื้องต้นคาดว่าปัญหาขยะเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่นำขยะจากบนฝั่งเข้ามายังพื้นที่ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆของประเทศและมีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมากมีการนำสิ่งของที่เป็นขยะติดตัวมาด้วยเมื่อใช้งานเสร็จ หรือรับประทานเสร็จก็ทิ้งลงทะเลโดยไม่ผ่านจุดทิ้งขยะของชุมชน และ อบต.ซึ่งทางชุมชนได้มีระบบการแก้ปัญหาขยะมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังพบช่องว่างบางจุด ส่วนขยะทะเลที่มาตามกระแสน้ำบางส่วนจะพัดเข้าหาฝั่งในช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายนซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหนแต่เมื่อพบทางชาวบ้าน ชุมชน ก็ได้ช่วยกันเก็บและนำขึ้นเรือไปกำจัดตามระบบ ส่วนปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิการประกอบอาชีพ ทางจังหวัดได้รับเรื่องไว้และจะได้เร่งประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป ซึ่งต้องประชุมหาบทสรุปในจังหวัดก่อน หลังจากนั้นจะนำเรื่องเสนอสู่ส่วนกลาง ส่วนเรื่องน้ำประปา น้ำอุปโภค บริโภค จะขอความร่วมมือจากสำนักงานประปาส่วนภูมิภาคขยายเขตการให้บริการวางท่อส่งน้ำเพื่อส่งน้ำมายังหมู่บ้านไร้แผ่นดินแห่งนี้ ส่วนเรื่องน้ำกัดเซาะชายฝั่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำเขื่อนกันน้ำเซาะตลิ่ง ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติคือไม้ไผ่ มาปักเป็นแนวป้องกันคลื่นลมทะเล ที่มีระยะยาว 9 กิโลเมตรและจะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มขึ้น และในโอกาสต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีจะนำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่บูรณาการติดตามการแก้ปัญหาร่วมกันอีกครั้ง

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย  พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก