วันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 15.00 น.
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.มอบหมายให้ พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัยเทศกาลสงกรานต์ 2567 ณ บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ ถนนเจริญนคร แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กทม.โดยมี พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.น.8 พ.ต.อ.ธนา มะลิงาม ผกก.สน.สำเหร่ และ พ.ต.ต.จิรายุ กีรติยุตอมรกุล สว.จร.สน.สำเหร่ พาคณะข้าราชการตำรวจ พร้อม ทีมแพทย์กู้ชีพโรงพยาบาล บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมแจกหมวกนิรภัย น้ำดื่ม ยาดม และแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการ ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน พี่สัญจรผ่านไปมาบริเวณหน้าโรงพัก
พล.ต.ต.ธวัช กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุจากจราจรทางบกก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีความประมาท คึกคะนอง ไม่เคารพกฎจราจรและสภาพของรถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย เทศกาลสงกรานต์ 2567 โดยเล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี ที่จะทำให้ประชาชน นักเรียน และเยาวชนในพื้นที่ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรโดยเคร่งครัด
“อีกทั้งสามารถ ป้องกันและลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ สามารถลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะและการเสียชีวิตจากการขับขี่ และโดยสารรถจักรยานยนต์ สร้างวินัยจราจร โดยการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อมีการขับขี่ นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร การสวมหมวกนิรภัย และเสริมสร้างความร่วมมือของผู้ขับขี่ในภารกิจของตำรวจ โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ ด้านการใส่ใจรักษาวินัยจราจรของคนในสังคม และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น” พล.ต.ต.ธวัช กล่าว
สำหรับ มาตรการคุมเข้มผู้ใช้รถใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้กำหนดมาตรการ 10 ข้อหา ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนควรทราบและให้ปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนดังนี้ 1.ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 2.ไม่ขับรถย้อนศร 3.ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร 4.ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย 5.ผู้ใช้รถต้องพกพาใบอนุญาตขับขี่ 6.ห้ามแซงในที่คับขัน 7.ห้ามดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะ 8.สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ 9.การดูแลอุปกรณ์ส่วนควบของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้มีความพร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย และ 10.ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถยานพาหนะ.