วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่อาคารเรือนแพขาว บริเวณริมเขื่อนสวนเทพปทุม อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดโครงการ “ข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม” ประเพณีสงกรานต์ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ในจังหวัดปทุมธานี
บรรยากาศงานชวนกินข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม รับเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นางลัษมา ธารีเกษ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี , เครือข่ายสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองปทุมธานี สภาวัฒนธรรมตำบลบางปรอก และสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญจังหวัดปทุมธานี และทุกภาคส่วนในจังหวัดปทุมธานี ร่วมต้อนรับขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบ สำรับข้าวแช่แบบชาวมอญรามัญ สำหรับการจัดงาน “ข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นประจำเทศกาลสงกรานต์รามัญ ที่มีอัตลักษณ์มาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งต่อยอดให้เป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของดีประจำจังหวัดปทุมธานี ทั้งด้านอาหาร (Food) และเทศกาลประเพณี (Festival) เป็นพลัง soft power ขับเคลื่อนการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การชม ชิม ข้าวแช่จากร้านค้าที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 6 ร้าน ได้แก่ นิสากรข้าวแช่รามัญ ข้าวแช่ทุ่งนามอญ ร้านแม่น้ำ ร้านบ้านรามัญ ข้าวแช่บ้านเรา ภัตตาคาร บ้านปากคลอง การสาธิตและบรรยายองค์ความรู้ข้าวแช่รามัญ นิทรรศการอาหารท้องถิ่น ประเพณีสงกรานต์วิถีรามัญ ขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบ การแสดงทางวัฒนธรรม และการจัดแสดงภูมิปัญญาไทยรามัญ อาทิ การปักสไบมอญ การทำธงตะขาบ การตัดพวงมโหตร และการกวนกาละแม
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นหนึ่งใน 5F เทศกาลประเพณี (Festival) ที่ประเทศไทยได้ผลักดัน และส่งเสริมจนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Thai Soft Power) ที่มีศักยภาพสูงที่สร้างรายได้ ให้กับประเทศจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศ และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จังหวัดปทุมธานีนั้น มีประเพณีสงกรานต์ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น อย่างหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายรามัญ คือ ประเพณีส่งข้าวแช่ ข้าวแช่ เป็นอาหารที่มีคุณค่า และแฝงไปด้วยคุณค่าสาระภูมิปัญญาชาวรามัญ ข้าวแช่ ภาษามอญเรียกว่า “เปิงซังกรานต์” เป็นอาหารในพิธีกรรมบูชาเทวดาในช่วงเช้าวันสงกรานต์ จากนั้นชาวบ้านจะจัดขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบ นำข้าวแช่ไปถวายพระที่วัด และส่งมอบให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตามขนบธรรมเนียมเพื่อความเป็นสิริมงคล ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ เห็นได้ว่าทั้งประเพณีสงกรานต์รามัญ (Festival) และข้าวแช่รามัญ (Food) ถือเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 5F ที่มีศักยภาพของจังหวัดที่สามารถนำมาต่อยอด ประชาสัมพันธ์ ยกระดับให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ภายใต้แนวคิดอาหารประจำเทศกาลสงกรานต์ ผ่านการจัดงาน “ข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม” ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในรากวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านข้าวแช่ของจังหวัด กระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว.