ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ศรัทธาล้นหลาม ชาวบางพลีร่วมสืบสานประเพณีสรงน้ำเจว็ดพ่อหลวงคงเพ็ชร ที่มีมานานกว่า 200 ปี

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ ศาลพ่อหลวงคงเพ็ชร ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพของชาวบ้านในอำเภอบางพลี และพื้นที่ใกล้เคียง
โดยในวันที่ 22 – 23 เมษายน ของทุกปี หลังจากวันสงกรานต์ 1 สัปดาห์ ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อ พ่อหลวงคงเพ็ชรและแม่ย่า ที่มีมานานกว่า 200 ปี ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้ร่วมกันจัดประเพณีสรงน้ำเจว็ด และพิธีส่งเรือลงน้ำในคลองบางโฉลง ที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลวงคงเพ็ชรกันทุกปี จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีความเชื่อว่า การจัดพิธีสรงน้ำเจว็ดและพ่อหลวงคงเพ็ชร จะช่วยสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และเรื่องร้ายๆ จะกลายเป็นดี ตามความเชื่อของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน


โดยตั้งแต่ช่วงเช้าจะเป็นพิธีถวายเครื่องสังเวย เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง – ต้มขาว เหล้าขาว มาเซ่นไหว้ จากนั้นในช่วงบ่ายจะประกอบพิธีส่งเรือ ซึ่งเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งไม่ดีงาม ให้ล่องลอยไปกับเรือ หลังเสร็จพิธีประมาณบ่ายสี่โมงเย็นก็จะมีลูกหลานที่สืบทอดทายาท นุ่งขาวห่มขาว ผ้าขาวม้าลายพาดไหล่ เป็นผู้ถือเจว็ดพ่อหลวงคงเพ็ชรและแม่ย่าที่ตั้งอยู่ในศาล รวม 18 อัน มาทำการแห่เฉลิมฉลองให้ชาวบ้านที่เคารพนับถือได้ร่วมกันสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล


บ้างก็นำมือทั้งสองข้างเข้าไปลูบเจว็ด เพื่อนำทองคำเปลวที่ติดอยู่มาลูบที่ใบหน้า บ้างก็ขอผ้าแดงมาผูกที่ข้อมือ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องราง ทำให้ทั่วบริเวณงานหอมกรุ่นไปด้วยน้ำอบไทย เสมือนกับได้ย้อนหวนกลับไปในอดีตชาติ โดยมีขบวนกลองยาวและเครื่องสีตีเป่าบรรเลงบทนำหน้า บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้นสนุกสนาน นอกจากนั้นอีกหนึ่งความเชื่อของชาวบ้านคือการได้รับข้าวผัดมงคง ซึ่งเชื่อว่าเป็นข้าวทิพปลุกเสกจากการที่จะมีลูกศิษย์พากันทำข้าวผัดโบราณมาถวายก่อนจะแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมงานได้นำกลับไปทานเพื่อความเป็นสิริมงคลและตามความเชื่อว่าสามารถปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บได้ นอกจากนั้นยังมีผ้าแดง ซึ่งถือว่าเป็นผ้ามงคลตัวแทนของพ่อหลวงคงเพ็ชรที่ชาวบ้านต่างพากันนำผ้าแดงไปห้อยคอผูกแขนหรือติดรถติดเรือไว้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจอีกด้วย


นาย ชะอุ่ม แตงโสภา นายกอบต.บางโฉลง เปิดเผยว่า สำหรับตำบลบางโฉลง เดิมชาวบ้านเรียกบางชีหลง เล่ากันว่ามีแม่ชีพายเรือมาตามลำคลองสำโรงได้พายเรือวกวนไปมาจนหาทางกลับบ้านไม่ถูก จนพบชาวบ้านสอบถามเส้นทางจนกลับไปได้ สถานที่แห่งนี้จึงเรียกว่า บางชีหลงเวลาผ่านมาจึงเพี้ยนเป็นบางโฉลง มีวัดเก่าแก่สองวัด คือ วัดบางโฉลงนอก และวัดบางโฉลงในโดยประชาชนทุกคนที่เป็นชาวบ้านพื้นถิ่นต่างมีความเชื่อความศรัทธาของประเพณีพื้นบ้านที่แปลกไม่เหมือนที่อื่นๆ จัดขึ้นบริเวณ “ศาลเจ้าพ่อหลวงคงเพ็ชร” วัฒนธรรมไทยมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความคิด ความเชื่อถือ ความรู้สึก ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยที่ริมฝั่งคลองบางโฉลง ตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางของวัดบางโฉลงนอก และวัดบางโฉลงใน ท้องที่หมู่ที่ 1 มีประเพณีพื้นบ้านที่แปลกไม่เหมือนที่อื่นๆ ไม่ใช่การจัดงานประเพณีสงกรานต์แต่อย่างไร พิธีดังกล่าวเป็นพิธี “สรงน้ำเจว็ด” และพิธี ส่งเรือสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
**********************
สุรศักดิ์ คงสินธ์ / ธนวัต นาคขำ จ.สมุทรปราการ