ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

จันทบุรี-เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี ประสบปัญหาภัยแล้ง ที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ แล้งหนัก 5 หมู่บ้าน ชาวสวนร้องขอน้ำ และซื้อน้ำเพื่อประทัง ยืดอายุต้นทุเรียนรอการเก็บเกี่ยว

ภัยแล้งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ ในพื้นที่ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี นายชยุตม์เทพ ป๊อกตัง นายกเทศมนตรีตำบลชากไทย เข้าควบคุมการสูบน้ำใส่รถบรรทุกที่ได้รับการสนับสนุนจากชลประทาน เทศบาลตำบลพลวง เทศบาลตำบลตะเคียนทอง และของเทศบาลตำบลชากไทย เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลที่ร้องขอน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยสามารถสนับสนุนน้ำให้ประชาชนได้วันละประมาณ 40 เที่ยวต่อวัน เป็นการลดภาระการซื้อน้ำรดพืชผลทางการเกษตรบรรเทาปัญหาภัยแล้ง / นายกเทศมนตรีตำบลชากไทย กล่าวว่า ตำบลชากไทยเป็นพื้นที่สุดท้ายในการรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำศาลทราย และได้รับผลกระทบน้ำมีไม่เพียงพอตั้งแต่เดือนมกราคม 2567

จึงใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำบรรเทาภาวะวิกฤติภัยแล้งในพื้นที่ตอนล่างของอำเภอเขาคิชฌกูฏ ด้วยการสูบน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีย้อนกลับ และขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากชลประทานจังหวัดจันทบุรี เทศบาลตำบลพลวง และของเทศบาลตำบลชากไทย รวมทั้งหมด 15 เครื่อง เริ่มสูบน้ำย้อนกลับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณด้านภัยพิบัติจากท้องถิ่นทั้ง 5 แห่งๆ ละ 2 แสนบาท หลังเงินท้องถิ่นหมด ก็ใช้เงินจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากจังหวัดจันทบุรี งบประมาณเชิงป้องกันยับยั้งเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ กว่า 1 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กว่า 2 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเฉพาะหน้าตามลำดับ ในพื้นที่ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง และตำบลชากไทย โดยชาวบ้านจะเสียค่าสนับสนุนน้ำมันรถบรรทุกน้ำประมาณ 200-300บาทตามระยะทางเท่านั้น และจะต้องบริหารจัดการน้ำต้นทุนน้ำที่สูบย้อนกลับนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤติช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตกลางเดือนพฤษภาคมนี้ไปได้ และขอบคุณผู้ใจบุญที่แบ่งปันน้ำจากสระน้ำของสวนคุณบุญช่วย ให้ประชาชน โดยชาวบ้านเป็นผู้ว่าจ้างรถบรรทุกน้ำและนำมารับน้ำฟรีจากแหล่งนี้ ที่รองรับได้วันละ 200 เที่ยวต่อวัน ซึ่งการสูบน้ำในพื้นที่นี้ดำเนินการมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว และคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือแบ่งปันได้ประมาณ 1 เดือน ขณะที่น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เทศบาลพลวงเป็นผู้บรรทุกบริหารจัดการส่งให้ประชาชนฟรีตามคำร้องขอ


ขณะที่ทางตอนบนของอำเภอเขาคิชฌกูฏ คือ ตำบลคลองพลู และตำบลจันทเขลม (จัน-ทะ-เขม) นายจตุรงค์ ลามหลิ่ง ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อำเภอเขาคิชฌกูฏ ให้ข้อมูลว่า ทางตอนบนของอำเภอเขาคิชฌกูฏ ถือว่าเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งหนักสุดและซ้ำซาก เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ไม่มีแหล่งกักเก็บ โดยที่ตำบลคลองพลู โชคดีอยู่บ้างที่บางพื้นที่สามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำศาลทรายได้ และชาวสวนส่วนใหญ่ก็มีแหล่งน้ำบาดาล ขณะที่ตำบลจันทเขลม เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งหนักสุด ทางอำเภอเขาคิชฌกูฏ ได้บริหารจัดการด้วยการขอรับงบประมาณทดรองราชการเชิงป้องกันหรือยับยั้งกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้ง จาก จ.จันทบุรีเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และขอรับการสนับสนุนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 17 สนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกล 3 กิโลเมตร จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ไปอ่างสะท้อน ระยะทางรวม 4.3 กิโลเมตรโดยพบปัญหาคือ กำลังส่งของเครื่องสูบน้ำ เครื่องที่ 1 จากอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวถึงบ่อพัก มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอให้เครื่องที่ 2 เดินเครื่องสูบส่งน้ำต่อเนื่องได้ ทำให้ยังไม่มีน้ำไหลลงลำรางเพิ่มเติม โดยได้วางแนวทางแก้ไขปัญหา คือ เปลี่ยนจากการสูบลงลำรางธรรมชาติ เป็นส่งต่อท่อชั่วคราวแทน และมีการทอยน้ำไปส่งลงรำรางสาธารณะบรรเทาความเดือดร้อนช่วยเกษตรกร โดยยืนยันว่า ส่วนราชการเข้าช่วยเหลือและบรรเทาภาวะภัยแล้งให้กับประชาชนตามระเบียนของทางราชการอย่างเต็มที่ หากงบประมาณที่นำมาใช้ดำเนินการอยู่หมดลง ก็จะเข้าสู่กระบวนการขอประกาศเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง


และที่ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ ชาวสวนได้ดัดแปลงรถบรรทุกใส่แท้งน้ำขนาดใหญ่เพื่อมาดูดน้ำจากคลองวังโตนดไปบำรุงรักษาต้นทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ เพื่อประคอง ยืดอายุให้ทันการเก็บเกี่ยวและร้องขอส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องรถบรรทุกน้ำเพื่อนำไปบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง
สัมภาษณ์ 1.นายณัทณพงษ์ อินทอง นายกเทศมนตรีตำบลพลวง // นายจตุรงค์ ลามหลิ่ง ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อำเภอเขาคิชฌกูฏ

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี 089-6767346
พสิษฐ์ เขม้นเขตวิทย์ รายงาน ศูนย์รวมข่าวภาคตะวันออก 062-7584334