ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวความเชื่อ

จันทบุรี – ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวน ชาวบ้านทนแล้งไม่ไหว แห่นางแมวขอฝน พึ่งความเชื่อ

จันทบุรีภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวน ชาวบ้านทนแล้งไม่ไหว แห่นางแมวขอฝน พึ่งความเชื่อ จังหวัดบูรณาการบรรเทาความเดือดร้อนลดผลกระทบน้ำอุปโภค บริโภค ขอชาวบ้านอดทนและแบ่งปันย้ำเน้นน้ำกิน น้ำใช้

สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และประชาชนเป็นวงกว้าง สวนผลไม้บางแห่งขาดน้ำเกษตรกรต้องปล่อยให้ยืนต้นตาย และรอปลูกใหม่ทดแทน ส่วนสวนผลไม้ที่รอการเก็บเกี่ยวชาวสวนต้องหาเงินมาซื้อน้ำเพื่อไปรดผลผลิตยืดอายุให้ถึงเวลาเก็บผลผลิตที่คงเหลือและคาดว่าสามารถเก็บผลผลิตคุณภาพได้ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนมหาศาล แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยผลไม้แห้งตาย และที่บ้านสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านได้รวมตัวกันแห่นางแมวเพื่อขอฝน ตามความเชื่อหลังฝนทิ้งช่วงมานาน และน้ำในคลองที่จะหล่อเลี้ยงผลผลิตเริ่มขาดแคลน ที่บริเวณหน้าศาลพ่อปู่เขาสระบาป ภายในบริเวณวัดสระบาปชัยชมภูพลโดยนางสาวเกศิณี ภานุวงศ์ แกนนำชาวบ้าน ( ใส่เสื้อสีน้ำเงิน ) กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องแห่นางแมวในช่วงกลางคืนเนื่องจากกลางวันสภาพอากาศร้อน และชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นชาวสวนต้องเร่งเก็บผลผลิตมังคุด ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ที่กำลังให้ผลผลิตออกสู่ตลาด การแห่นางแมวเป็นความเชื่อของคนในพื้นที่ และไม่เคยแห่นางแมวมานานแล้วเนื่องจากสภาพอากาศของพื้นที่มีความชุ่มชื้นและฝนไม่เคยทิ้งช่วงยาวนานเหมือนปีนี้เคยมีภัยแล้งแบบนี้เกิดขึ้นเมือ่ปี 2537 และ ปี2552 แต่ในพื้นที่ก็ยังมีความชุ่มชื้นจากเขาสระบาปมาบรรเทา ไม่เหมือนปีนี้ที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานมาก

โดยก่อนแห่นางแมว คุณยายสำอาง ผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านนำผู้ร่วมพิธี ร่วมสวดปลาช่อน ที่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ความสมบูรณ์ ที่ปั้นขึ้นจากดินเหนียวใส่ในถาดและมีน้ำหล่อเลี้ยง หลังจากนั้นก็สวดชุมนุมเทวดากล่าวขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ แมวที่นำมาประกอบพิธีจะมีความสมบูรณ์ และหลังจากทำพิธีเสร็จนำแมวจริงแห่เวียนรอบเจดีย์ของวัด แล้วตั้งขบวนแห่ไปในหมู่บ้าน แต่ก็มีการเปลี่ยนจากแมวจริง เป็นตุ๊กตาแมวเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดแก่แมวได้ จะไม่ทำให้แมวทรมารจนป่วย หรือเสียชีวิตในการแห่นางแมวรอบหมู่บ้านเมื่อผ่านบ้านใครเจ้าของบ้านก็จะนำน้ำมาสาดรดแมวที่อยู่ในเข่งใส่ผลไม้ และสาดผู้ร่วมขบวน กล่าวขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และร่วมร้องเพลงตามความเชื่อ การแห่นางแมวที่ต้องใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวบ้านจึงถือเอาเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่าจะเป็นเหตุให้ฝนตกจริงๆ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำและทำให้แมวร้องมากที่สุด และเชื่อว่าหลังจากทำพิธีแห่นางแมวแล้วฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอน และการเปร่งเสียงร้องของนางแมว และเมื่อแห่จนเสร็จครบทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านแล้ว บ้านหลังสุดท้ายที่แมวไปถึงจะต้องเตรียมทำข้าวมัน แกงเป็ดเพื่อไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในเช้าวันรุ่งขึ้นพร้อมกับเงินที่ชาวบ้านร่วมบริจาคถวายแก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในลำดับต่อไป


อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ทางจังหวัดได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มีการนำรถน้ำและสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย และได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติไปแล้วรวม 2 อำเภอคือโป่งน้ำร้อน และสอยดาว ส่วนอำเภออื่น ๆ กำลังรวบรวมข้อมูลจากท้องถิ่นเพื่อประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ภัยแล้งหากยังไม่มีฝนไม่ตกลงมา แต่ที่ยังไม่ประกาศทั้งจังหวัดเนื่องจากทางท้องถิ่นที่บูรณาการยังพอช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนได้ โดยมุ่งเน้นบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องของน้ำกิน น้ำใช้ มีการระดมรถบรรทุกน้ำ ที่เปลี่ยนจากรถดับเพลิงไปเติมน้ำให้ในพื้นที่ประสบภัยนอกเหนือจากการต่อท่อส่งน้ำ และเครื่องสูบน้ำระยะไกล ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้น้ำ ชาวบ้าน และเกษตรกรคำนึงถึงส่วนรวม แบ่งปันน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้เพียงพอ และขอให้ประชาชนหาถังสำรองน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอแก่ครัวเรือนลดผลกระทบที่อาจจะยาวนาน ก่อนเข้าฤดูฝน

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี 089-6767346
พสิษฐ์ เขม้นเขตวิทย์ รายงาน ศูนย์รวมข่าวภาคตะวันออก 062-7584334