วันที่ 15 พ.ค.67 ที่วัดลำภู ม.2 ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บ้านคลองไทร ม.1 บ้านลำภู ม.2 บ้านทุ่งขนุน ม.3 บ้านโคกโก ม.4 และบ้านทุ่งงาย ม.9 ต.ลำภู จำนวนกว่า 300 คน ภายใต้การนำของนางวิชชุเวช เอียดเต็ม ได้รวมตัวกันเดินทางมาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชน กรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 ถึง 28 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในรอบ 50 ปี
ซึ่งการรวมตัวร้องทุกข์ของชาวบ้านในครั้งนี้ ได้มีการนำเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมทั้งภาพถ่ายที่บันทึกความเสียหายของบ้านพักและทรัพย์สินภายในครัวเรือนทางโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งภาพถ่ายความเสียหายที่ได้ไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาให้ผู้สื่อข่าวดู จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ อบต.ลำภู ส่งไปยังเจ้าหน้าที่อำเภอและสิ้นสุดที่เจ้าหน้าที่จังหวัด ก่อนที่จะมีการพิจารณาตามกฏเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้านแต่ละหลังหรือแต่ละครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมามีชาวบ้านได้รับเงินสูงสุด 52,000 บาท และต่ำสุดเพียง 720 บาท แต่มีชาวบ้านอีก จำนวนกว่า 800 ราย ที่ไม่ได้เงินเยียวยา เนื่องจากขัดต่อระเบียบคือ ไม่มีภาพถ่ายความเสียหาย รวมทั้งภาพถ่ายความเสียหายที่ส่งให้เจ้าหน้าที่สูญหายโดยที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ ประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย ไม่มีโทรศัพท์มือถือบันทึกความเสียหาย ส่วนใหญ่ทรัพย์สินภายในบ้านพัดจะถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดหายไป และได้มีการแจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ตาเมินเฉยจนชาวบ้านไม่รับเงินเยียวยาไปในที่สุด
ต่อมาตัวแทนชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวไปดูตัวอย่างการจ่ายเงินเยียวยาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คือ บริเวณริมถนนลำภูโคกโก ม.2 ซึ่งเป็นจุดที่เรือยนต์ที่ช่วยกันอพยพชาวบ้าน ถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดจนเรืออับปาง ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวทางการให้เงินเยียวยา 50,000 บาท แต่บ้านพักที่ปลูกสร้างติดกันของนางสมศรี นวาโย เลขที่ 111 ที่ผู้สื่อข่าวเห็นความเสียหายของซากปรักหักพังของบ้านพักที่ยังไม่ได้มีการซ่อมแซม ได้เงินเยียวยาเพียง 3,500 บาท ทั้งๆที่เสียหายอย่างหนักเหมือนกัน แต่เจ้าหน้าที่ใช้กฏเกณฑ์อะไรตัดสิน จนนางสมศรี ไม่สามารถที่จะนำเงินเยียวยามาซ่อมแซมบ้านพักได้ จึงต้องตัดสินใจไปอาศัยบ้านเช่าในตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เป็นการชั่วคราว
ด้านนางกนกวรรณ สมบูรณ์ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 72 ม.9 ต.ลำภู กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า บ้านเสียหายหมดทุกอย่างเลยบ้านสองหลังน้ำท่วมสูงจนไม่มีที่จะอยู่ ตัวเองติดอยู่ข้างนอกเดินเข้าไปเพื่อที่จะเข้าไปช่วยลูก ถึงวันนี้ไม่ได้เงินเยียวยาสักบาทเพราะไม่มีชื่อ อยากจะรู้ว่าเขาเอาเงินไปไหนหมดเราก็ต้องใช้จ่าย ร้านค้าก็พังเสียหายจึงอยากจะฝากทางผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเพราะเดือดร้อนกันทุกคน เราจะเอาหลักฐานจากไหนมาในสถานการณ์นั้นแค่เอาชีวิตรอดมาได้ก็บุญแล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเอาหลักฐานเราก็ไม่มีหลักฐานอะไรเลย มีแต่ข้อมูลที่น้ำซัดพาไปหมด โดยเจ้าหน้าที่จะเอาหลักฐานเป็นภาพถ่ายหมูที่ลอยน้ำเกือบ 40 ตัว ลอยไปกับน้ำหมดเลย ประเมินความเสียหายประมาณ 600,000 ถึง 700,000 บาท ซึ่งวันนี้ตัวเองไม่เหลืออะไรเลย ต้องมาเป็นหนี้และใช้หนี้เพราะไปกู้เงินมาเลี้ยงหมู
ด้านนางวิชชุเวช เอียดเต็ม แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนที่จังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมหนัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศภัยพิบัติ 100% แต่เราได้รับการเยียวยาได้อย่างน่าเกลียดมากไม่มีความเป็นธรรม ขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลังที่รัฐบาลเปิดให้ช่วยเหลือชาวบ้าน อาจจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการของคนที่ให้ข้อมูล และผู้ที่สำรวจข้อมูล ซึ่งยอมรับว่าผู้สำรวจข้อมูลเองก็รับฟังคำสั่งมาเป็นทอดๆว่าเอาหลักฐานแค่ไหน แต่ความเป็นจริงภาพความเสียหายให้เห็นทั่วประเทศและทั่วโลก ว่าคนในพื้นที่ประสบเหตุอย่างไรบ้าง น้ำท่วมขนาดไหนลำพังจะเอาชีวิตรอดออกมายังยากเลย ในเมื่อรัฐบาลเองต้องการให้ประชาชนหมดหนี้ ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข แต่วันนี้กลับตรงกันข้ามกันกับสิ่งที่ชาวบ้านได้รับ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสถานะตอนนี้แย่ลงมาก ทุกคนต้องเป็นหนี้เป็นสิน ต้องกู้เงินสหกรณ์ กู้เงินสัจจะ กู้เงินเงินกองทุน แม้กระทั่งต้องกู้เงินนอกระบบ เพื่อมาสร้างครอบครัวใหม่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมไม่มาดูตอนที่ของเน่าเต็มบ้านเสื้อผ้าจะเอาคลุมตัวยังไม่มี แม้กระทั่งที่นอนยังไม่มีเลยเสื่อยังลอยน้ำ ซึ่งเงินเยียวยาที่มากสุดเท่าที่ได้ยินมา 52,000 บาท กับบ้านพังทั้งหลังรถยนต์กี่คัน แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ถ่ายรูปมา สถานการณ์น้ำท่วมปลั๊กไฟน้ำเข้าโทรศัพท์หล่นหายไปกับน้ำแล้วจะเอาอะไรมาถ่าย โดยคุณจะต้องใช้สามัญสำนึกไม่ว่าผู้ใหญ่ระดับไหนก็ตาม แต่วันนี้อยากให้ผู้ใหญ่รื้อระบบคิดใหม่ทำใหม่ ใช้สามัญสำนึกให้นึกถึงหลักความเป็นจริงว่าน้ำท่วมหนักขนาดนี้ ความเสียหายหนักขนาดนี้ เขาต้องได้รับการชดเชยขนาดไหนถึงจะมีคุณภาพชีวิตอยู่ได้ โดยที่เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์มาวัด ถึงอยากจะเรียกร้องนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ช่วยรื้อระบบหรือไม่ก็สำรวจใหม่ทั้งจังหวัดในส่วนของพื้นที่ที่มีความเสียหาย
15 พฤษภาคม 2567
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส